วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

“ข้าวนาปู” ข้าวออร์แกนิกส์ที่บูมที่สุดในหนิงเซี่ย

“ข้าวนาปู” ข้าวออร์แกนิกส์ที่บูมที่สุดในหนิงเซี่ย
ยุคนี้กระแสการบริโภคอาหารชีวภาพกำลังมาแรงทั้งในตลาดตะวันตก ยุโรปและอเมริกา ไม่เว้นแม้แต่จีน เนื่องจากจีนมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและมีเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากทุกปี ผู้บริโภคจีนหันมานิยมสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น นอกจากจะได้สินค้าที่ดีต่อตนเองแล้วยังรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกร
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าข้าวออร์แกนิกส์หรือข้าวอินทรีย์กันมาบ้าง ข้าวออร์แกนิกส์หรือข้าวอินทรีย์ก็คือ การปลูกข้าวที่ปลอดจากสารเคมีทุกขั้นตอน ไม่ใส่ปุ๋ยเคมียกเว้นปุ๋ยชีวภาพ จนถึงการควบคุมโรคแมลงด้วยวิธีพิเศษ แล้วคุณเคยได้ยินคำว่า “ข้าวนาปู” หรือไม่ ?? ข้าวนาปูมีชื่อภาษาจีนว่า ข้าวเซี่ยเถียน (蟹田米) ก็คือการปลูกข้าวควบคู่ไปพร้อม ๆ กับการเลี้ยงปูน้ำจืดนั่นเอง แต่หลายคนคงงง เพราะส่วนใหญ่เราเคยได้ยินแต่การกำจัด

ปูในนาข้าว เนื่องจากทำความเสียหายให้กับต้นข้าว บ้างก็เอามาทำปูนาดองไว้ใส่ส้มตำรสแซ่บหรือทำน้ำปูก็อร่อยดี (น้ำปูหรือทางภาคเหนือเรียกว่าน้ำปู๋ ทำจากปูนาที่นำมาตำและกรองเอาแต่น้ำ เคี้ยวจนเหนียวเป็นสีดำ ใช้ปรุงอาหารได้หลายชนิด เป็นสิ่งจำเป็นในครัวพอ ๆ กับปลาร้าในไหของภาคอีสาน) ข้าวนาปูคืออะไรและเป็นอย่างไร เราตามไปดูชาวหนิงเซี่ยเขาปลูกข้าวกันดีกว่า
หนิงเซี่ยได้นำเทคนิคการปลูกข้าวควบคู่กับการเลี้ยงปูน้ำจืด หรือที่เรียกว่า ระบบ symbiosis (ซิมไบโอซิส คือ การอยู่รวมกันของสิ่งมีชีวิตสองชนิดที่เอี้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน) เข้ามาใช้ในแปลงนาข้าวตั้งแต่ปี 2552 นับเป็นการผสมผสานการเพาะปลูกควบคู่กับการเพาะเลี้ยงได้อย่างลงตัว เริ่มต้นได้มีการทดลองเพาะปลูกข้าวในนาปูจำนวน 1,000 หมู่ (ประมาณ 2.4 หมู่ เท่ากับ 1 ไร่) ใช้พันธุ์ข้าว Jing27 (หรือเรียกว่า Ji-T39 ,宁粳 27 号) และพันธุ์ 843 โดยแปลงนา 1 หมู่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ 550 กิโลกรัม และเพาะเลี้ยงปูได้ 25 กิโลกรัม ทำรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นประมาณหมู่ละ 1,500 – 1,800 หยวน อีกทั้งได้ข้าวที่ปลอดสารเคมี แถมยังเป็นการเพาะปลูกเชิงนิเวศวิทยาที่รักษาสิ่งแวดล้อมและไม่ทำร้ายสังคมอีกด้วย สำหรับปี 2553 ได้มีการขยายผลปลูกในแปลงนาข้าวจำนวน 50,000 หมู่ ในอำเภอเห้อหลาน (นครอิ๋นชวน) เมืองชิงถงเสียและเมืองจงเว่ย นอกจากนี้ ยังคาดการณ์กันว่าจะขยายผลการปลูกข้าวนาปูถึง 500,000 หมู่ภายในปี 2555 และเพาะเลี้ยงปูน้ำจืดได้อีก 4,000 ตัน

จากผลการทดลองการปลูกข้าวควบคู่กับการเลี้ยงปูนั้นพบว่า ปูเจริญเติบโตได้ดี ปูช่วยกำจัดวัชพืชและแมลง ทำให้ดินร่วนซุย มูลของปูยังเป็นปุ๋ยแก่ต้นข้าว ตลอดการปลูกข้าวจึงไม่จำเป็นต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมน สารเคมีและเทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรมใด ๆ เป็นการเพาะปลูกเชิงนิเวศวิทยาที่ส่งผลให้ต้นข้าวมีแร่ธาตุและสารอาหารสมบูรณ์
หลังข้าวนาปูออกสู่ตลาดก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคที่รักสุขภาพเป็นอย่างดี แถมข้าวก็มีรสชาติอร่อย หอมและเหนียวนุ่ม โดยเฉพาะเืมื่อช่วงเทศกาลตรุษจีนเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ข้าวนาปูถูกเลือกให้เป็นของขวัญที่มีค่าสำหรับผู้ซื้อและผู้รับ ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ข้าวนาปูของหนิงเซี่ยได้จำหน่ายไปยังต่างมณฑลและต่างประเทศ อาทิเ่ช่น เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เซินเจิ้น ปักกิ่ง ส่านซี กานซู ชิงไห่ ประเทศมองโกเลียและกลุ่มประเทศอาหรับ โดยข้าวนาปูได้ถูกส่งออกจำหน่ายไปพร้อมกับข้าวออร์แกนิกส์ชนิดต่าง ๆ ของหนิงเซี่ยในปัจจุบัน เช่น ข้าวกล้องและข้าว Selenium-rich rice (ข้าวที่มีสารซีลีเนียมมากกว่าข้าวสารทั่วไป) ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้า High-end เป็นอย่างมาก ราคาโดยเฉลี่ยของข้าวออร์กานิกส์ทั่วไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 – 40 หยวน สำหรับข้าวนาปูราคาขายปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 หยวน นับว่าแพงกว่าข้าวสารโดยทั่วไป 4 - 5 เท่า แถมแพงกว่าข้าวหอมมะลิของไทยเสียอีก

 วิธีการปลูกข้าวนาปู
เทคนิคสำคัญของการปลูกข้าวนาปูคือ การเตรียมแปลงนาข้าวและการปลูกข้าวก่อนฤดูหรือเร็วกว่าปกติ โดยราวกลางเดือนเม.ย. เมื่อเกษตรกรถอนหญ้าในนาปูหรือบ่อปูเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มนำต้นกล้าข้าวลงปลูกในนาปู หลังจากรอระยะเวลาให้ข้าวตั้งตัว ประมาณกลางเดือนพ.ค.ให้นำลูกปูปล่อยในแปลงนาข้าว ลูกปูและต้นข้าวจะเติบโตไปพร้อม ๆ กัน (เทคนิคสำคัญคือ ต้นข้าวจะต้องสูงกว่า 10 ซม.ขึ้นไปจึงจะปล่อยลูกปูเข้าแปลงนาได้ นอกจากนี้ ก่อนปล่อยลูกปูลงนาอุณหภูมิของน้ำในบ่อเลี้ยงปูกับแปลงนาไม่ควรต่างกันเกินกว่า 3 องศาเซลเซียส) เมื่อนาข้าวถูกแมลงรุกราน ปูจะไต่ไปตามต้นข้าวและกัดกินแมลง ดังนั้นข้าวจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งยาฆ่าแมลงเลย ประมาณเดือนก.ค.ให้ใช้แรงงานคนถอนต้นหญ้า จากนั้นราวเดือนต.ค.จึงทำการเก็บเกี่ยวข้าว
เคล็ดลับของการทำข้าวนาปู

เคล็ดลับสำคัญของการทำข้าวนาปูอยู่ที่การเตรียมแปลงนา วิธีการคือ ต้องปรับบ่อเลี้ยงปูซึ่งมีความลึกให้ตื้นขึ้นและเรียบ ปรับคันนา 4 ทิศทางให้สูงขึ้นและล้อมด้วยพลาสติก ใช้ไม้ขนาดความสูง 60 – 65 ซม.ปักรอบคันนาและให้มีระยะห่างกันประมาณ 1 เมตร โดยไม้จะต้องห่อหุ้มด้วยพลาสติกเช่นกัน การปักไม้ตามคันนาตัวไม้โผล่พ้นจากพื้นดิน 50 ซม. และปักลงไปในดินราว 10 – 15 ซม. จากนั้นนำดินมาอุดรอบไม้ให้แน่น เพื่อไม่ให้น้ำเข้าไปในไม้ ต่อมาให้ทำการขุดร่องน้ำรอบคันนาภายในแปลงข้าวขนาดความกว้าง 2 – 2.5 เมตร ความลึก 0.8 เมตร และความลาดเอียง 1 : 3 โดยร่องน้ำมีระยะห่างจากคันนาราว 1 เมตร ดังนั้นจึงสามารถปลูกข้าวได้ทั้งบริเวณภายในและภายนอกร่องน้ำ ระบบน้ำเข้า-ออกใช้ปั๊มสูบน้ำ และการสูบน้ำเข้าและออกให้อยู่ทิศตรงข้ามกัน ท่อสูบน้ำเข้าให้ใช้ตาข่ายไนลอนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง (รูตาข่าย) 0.33 มม. ปิดท่อไว้เวลาสูบน้ำเข้า เพื่อป้องกันสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น ลูกปลาและไข่ปลา เข้าไปทำร้ายลูกปูหรือแย่งออกซิเจนและอาหารของลูกปู ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูกปูได้

ไทยเราเองก็มีการพัฒนาข้าวเพื่อสุขภาพหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล้องงอก ข้าวฮาง (ข้าวหอมมะลินึ่ง) และข้าวเคลือบสมุนไพร เพื่อยกระดับข้าวธรรมดา ๆ ของชาวนาให้มี “คุณค่า” และ “มูลค่า” มากยิ่งขึ้น หากจะว่าไปแล้ว “ข้าวนาปู” ก็มีแนวความคิดที่คล้ายคลึงกับ “การเลี้ยงกุ้งก้ามร่วมกับการปลูกข้าว” ของโครงการหลวงในไทย ที่หยิบยกเอาเอกลักษณ์ ภูมิปัญญา และข้อดีที่มีอยู่แล้วมาปรับประยุกต์ให้เป็น “จุดเด่น” ที่ไม่เหมือนใคร ทั้งนี้ “ข้าวนาปู” ไม่เพียงแต่เป็นเทคโนโลยีผลิตข้าวออแกนิกส์ที่เป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยวิธีเรียบง่าย หากแต่ยังเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างมั่นคง ยั่งยืน และคง Concept “รักษ์โลก” ไว้ได้อย่างสมบูรณ์

หมายเหตุ
กุ้งก้าม เป็นชื่อที่หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเป็นผู้ตั้งชื่อเป็นภาษาไทย เป็นกุ้งน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Red Craw Crayfish ชื่อวิทยาศาสตร์ Cherax quadricarinatus กุ้งก้ามถูกนำมาเลี้ยงครั้งแรกเมื่อต้นปี 2549 ที่งานวิจัยประมงที่สูงอินทนนท์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จังหวัดเชียงใหม่ โดยเพาะเลี้ยงในบ่อดิน เป็นสายพันธุ์มาจากประเทศออสเตรเลีย (จาก http://www.numsai.com/)

แหล่งข้อมูล
http://www.nx.xinhuanet.com/ วันที่ 16 มิถุนายน 2553 , 12 กรกฎาคม 2553 และ 15 กรกฎาคม 2553
http://www.baidu.com/
http://www.chinadami.com/
http://www.thaiembbeij.org//
http://www.thaibizchina.com/

เขียนโดย : ธิดารัตน์ วนพฤกษาศิลป์ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน วันที่ 5 สิงหาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น