วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การปลูกองุ่น


องุ่น เป็นผลไม้ที่มีรสชาติดี ปลูกกันมากกว่า 5,000 ปี สามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งในเขตหนาว เขตกึ่งร้อนกึ่งหนาว และเขตร้อน สำหรับประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่านำเข้ามาในสมัยใด แต่พอจะเชื่อได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านได้นำพันธุ์ไม้แปลกๆ จากต่างประเทศที่ได้เสด็จประพาสมาปลูกในประเทศไทย และเชื่อว่าในจำนวนพันธุ์ไม้แปลกๆ เหล่านั้นน่าจะมีพันธุ์องุ่นรวมอยู่ด้วยในสมัยรัชกาลที่ 7 มีหลักฐานยืนยัน ว่าเริ่มมีการปลูกองุ่นกันบ้างแต่ผลองุ่นที่ได้มีรสเปรี้ยว การปลูกองุ่นจึงซบเซาไป ต่อมาในปี 2493 ได้เริ่มมีการปลูกองุ่นอย่างจริงจัง โดย หลวงสมานวนกิจ ได้นำพันธุ์มาจากแคลิฟอร์เนีย และปี 2497 ดร.พิศ ปัญญาลักษณ์ ได้นำพันธุ์มาจากยุโรปซึ่งปลูกได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นับแต่นั้นมาการปลูกองุ่น ในประเทศไทยจึงแพร่หลายมากขึ้น
ปัจจุบันในประเทศไทยมีการปลูกองุ่นในแถบภาคตะวันตก เช่น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งสามารถให้ผลผลิตได้ดี แต่เกษตรกรบางรายได้เปลี่ยนจากองุ่นเป็นพืชอื่น เนื่องจากมีโรคแมลงระบาดมาก และแมลงดื้อยาไม่สามารถกำจัดได้ ทำให้พื้นที่ปลูกองุ่นในแถบนี้ลดลง พื้นที่ปลูกองุ่นได้ขยายไปในแถบภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบ้างเล็กน้อย ถึงแม้ว่าราคาจะเป็นแรงจูงใจ แต่ปัญหาเรื่องโรคแมลงระบาดมากทำให้ พื้นที่ปลูกองุ่นไม่ค่อยขยายเท่าที่ควร
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
องุ่นถึงแม้จะไม่ใช่พืชเขตร้อน แต่จากสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นอย่างประเทศไทย องุ่นสามารถเจริญเติบโตได้ดีจึงปลูกได้โดยทั่วไป ถ้าได้รับการตัดแต่งกิ่งก็สามารถออกดอกได้ดีเช่นเดียวกันกับ องุ่นที่ปลูกในเขตหนาวสามารถให้ผลผลิตมากกว่า 1 ครั้งต่อปี และสามารถบังคับให้ผลองุ่นแก่ในฤดูใดของปีก็ได้ ในขณะที่องุ่นที่ปลูก ในเขตหนาวให้ผลผลิตปีละครั้งและผลแก่ช่วงฤดูร้อนเท่านั้น แต่ควรระวังคือ ในสภาพดินฟ้าอากาศที่มีความชื้นสูงฝนตกชุก จะทำให้เกิดโรคระบาดอย่างรวดเร็วทำให้เสียหายแก่ใบ ต้น และผลองุ่นได้มาก จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันกำจัด โรคแมลงมากไม่คุ้มกับการลงทุน แต่ถ้าฝนตกในตอนผลแก่จะทำให้ผลแตก คุณภาพของผลไม่ดี ดังนั้นสภาพภูมิอากาศจึงเป็นตัวจำกัดเขตการปลูกองุ่น และลักษณะการใช้ประโยชน์ เช่น ในประเทศไทยสามารถปลูก องุ่นรับประทานผลสดได้ดี โดยเฉพาะองุ่นที่แก่ในฤดูร้อน และฤดูหนาว แต่การที่จะปลูกองุ่น สำหรับทำเหล้าองุ่นให้มีคุณภาพดีๆ ยังสู้องุ่นในแถบยุโรปไม่ได้ ซึ่งสภาพภูมิอากาศมีผลต่อคุณภาพของ ผลผลิตเป็นสำคัญ ส่งนการเจริฐเติบโตของต้นไม่มีปัญหามากนัก นอกจากเขตที่มีอากาศ ร้อนจัดหรือหนาวจัดเกินไปต้นองุ่นอาจตายได้
จะเห็นว่าเขตปลูกองุ่นของโลกนั้นกว้างมาก สามารถปลูกได้ในพื้นที่สูง ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงระดับความสูง 6,000 ฟุต แต่แหล่งปลูกองุ่นที่มีคุณภาพดีมักอยู่ในระดับความสูงจาก ระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 - 4,000 ฟุต
ดิน

องุ่นสามารถเจริญเติบโตได้ในดินทั่วไปที่มีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ ดินที่เหมาะสำหรับปลูกองุ่นได้ผลดีนั้น มักเป็นดินเหนียวที่มีธาตุอาหารพืชอยู่มาก ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีหน้าดินลึกสภาพความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 5.6-6.4 มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการขององุ่นได้ แต่ต้องเป็นบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง เพราะถ้าองุ่นถูกน้ำท่วมเพียง 2 วันก็จะตาย และต้องไม่เป็นพื้นที่ที่น้ำทะเลท่วมถึง เพราะจะทำให้ต้นองุ่นได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน
พันธุ์
พันธุ์องุ่นที่นิยมปลูก คือ
1. พันธุ์ไวท์มะละกา เป็นพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้ามากที่สุด ในปัจจุบันเป็นที่นิยมของผู้บริโภคโดยทั่วไป ปลูกง่ายและเจริญเติบโตดี มี 2 สายพันธุ์ คือ ชนิดผลกลมและผลยาว ลักษณะช่อใหญ่ยาว การติดผลดีผลมีสีเหลืองอมเขียว รสหวานแหลม เปลือกหนาและเหนียว ในผลหนึ่งๆ มี 1-2 เมล็ด ช่วงเวลาหลังจากตัดแต่งกิ่งจนเก็บผลได้ประมาณ 4 เดือนครึ่ง ปีหนึ่งให้ผลผลิต 2 ครั้ง ผลผลิตประมาณ 10-15 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง ปัจจุบัน ชาวสวนได้หันมาปลูกองุ่นพันธุ์ไวท์มะละกาสายพันธุ์ผลยาวกันมาก เพราะมีรสหวานกรอบและสีเหลืองสดใสกว่าพันธุ์ผลกลม

2. พันธุ์คาร์ดินัล เป็นองุ่นที่ปลูกง่าย การเจริญเติบโตดีมาก มีลักษณะช่อใหญ่ ผลดก ผลกลมค่อนข้างใหญ่ มีสีแดงหรือม่วงดำ รสหวาน กรอบ เปลือกบาง จึงทำให้ผลแตกง่ายเมื่อผลแก่ในช่วงฝนตกชุก ในผลหนึ่งๆ มีเมล็ด 1-2 เมล็ด ช่วงเวลาหลังจากตัดแต่งกิ่งจนเก็บผลได้ใช้เวลา 3-3 เดือนครึ่ง ในเวลา 2 ปี สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 5 ครั้ง ผลผลิตประมาณ 10-15 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง แต่ราคาถูกปัจจุบันจึงนิยมปลูกกันน้อย
การขยายพันธุ์
องุ่นเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ง่าย และรวดเร็ว สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น
1. การปักชำ เป็นวิธีการที่ง่ายและเหมาะสมวิธีหนึ่ง กิ่งที่ใช้ปักชำควรเป็นกิ่งที่มีอายุประมาณ 7-12 เดือน กิ่งที่แก่หรืออ่อนเกินไปจะออกรากไม่ค่อยดี ควรเลือกกิ่งขนาดไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป มีข้อถี่ๆ และมีตาโปนเห็นเด่นชัด เวลาทำการปักชำให้ตัดกิ่งองุ่นเป็นท่อนๆ ยาว 15-20 เซนติเมตร หรือมีข้อประมาณ 4-5 ข้อ ปักชำลงในกระบะทรายผสมขี้เถ้าแกลบ (อัตราส่วน 1:1) ถ้ามีฮอร์โมนช่วยในการเร่งราก ควรนำกิ่งปักชำมาจุ่มเสียก่อน จะช่วยให้ออกรากได้มากและแข็งแรง แล้วจึงปักชำในวัสดุที่เตรียมไว้ลึก 1 ใน 3 ของกิ่ง รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอหลังจากการปักชำแล้วประมาณ 15-20 วัน กิ่งที่ปักชำจะเริ่มแตกรากและแตกใบอ่อน เมื่ออายุประมาณ 1 เดือนก็นำลงปลูกได้
นอกจากการปักชำในกระบะแล้ว ใต้ต้นองุ่นในแปลงปลูกมีร่มรำไรอยู่เสมอ สามารถปรับปรุงใช้เป็นแปลงปักชำ กิ่งองุ่นได้ดีเช่นเดียวกัน
2. การตอน เป็นวิธีการที่ชาวสวนนิยมทำกันมากอีกวิธีหนึ่งเพราะสะดวก รวดเร็ว และตรงตามพันธุ์ กิ่งที่ใช้ตอนนั้นควรเป็นกิ่งที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป กิ่งที่เหมาะสมใน การตอนควรมีอายุประมาณ 3 เดือน ควรเลือกกิ่งที่สมบูรณ์ขนาดเท่าแท่งดินสอ ปราศจากโรค และแมลงในกิ่งเดียวกันสามารถตอนได้หลายช่วง โดยแต่ละช่วงมีประมาณ 3-4 ข้อ

เมื่อเลือกกิ่งที่เหมาะสมได้แล้ว จึงควั่นกิ่งให้รอยควั่นห่างกัน 0.5 เซนติเมตร ลอกเปลือกออกแล้วใช้สันมีดขูดเยื่อเจริญออก จากนั้นหุ้มด้วยตุ้ม ขุยมะพร้าวที่เตรียมไว้ หรือจะใช้ดินเหนียวอย่างเดียวแล้ว ใช้พลาสติกหุ้มก็ได้ แต่ต้องคอยตรวจดูอย่าให้ตุ้มตอนแห้ง อีก 15 วันต่อมา จะเห็นรากองุ่นสีขาวออกมา 3-4 ราก รีบตัดนำ ไปชำในถุงพลาสติกซึ่งบรรจุทรายและขี้เถ้าแกลบในอัตราส่วน 1:1) หลังจากนั้นอีก 15 วัน เมื่อกิ่งตอนแข็งแรงดีแล้วก็สามารถนำไปปลูกในแปลงได้

ข้อควรระวัง คือ ในระหว่างการเพาะชำในถุงพลาสติกนั้น ควรพ่นด้วยสารกำจัดเชื้อรา เช่น แคปแทน หรือเบนเลท ทุก 7 วันและเมื่อชำไว้แล้ว ควรรีบนำไปปลูกขณะที่รากยังขาวอยู่ ไม่ควรปล่อยให้รากเป็นสีน้ำตาลเหมือนพืชอื่น เพราะจะทำให้ชะงัก การเจริญเติบโตและตายง่ายขึ้น
3. การติดตา จุดประสงค์ของการติดตาเพื่อให้ได้ต้นองุ่นที่ให้ผลผลิตดี และมีระบบรากแข็งแรงทนทาน เพราะองุ่นพันธุ์ดีอาจอ่อนแอ หรือถูกรบกวนด้วยศัตรูในดินได้ง่าย แต่องุ่นพันธุ์ป่าบางพันธุ์มีระบบรากแข็งแรง ทนทานต่อโรคแมลงในดินได้ดี ก็จะเอาพันธุ์นั้นเป็นต้นตอแล้วนำตาพันธุ์ดีมาติดให้เป็นส่วนยอด เนื่องจากองุ่นมีเปลือกไม้ที่ลอกออกยาก ดังนั้นวิธีการติดตาองุ่นที่ใช้กันคือ การติดตาแบบชิบ (Chip budding) โดยเลือกตาพันธุ์ดีที่มีสีน้ำตาล ตาไม่บอดปราศจากโรคและแมลง เฉือนตาให้ติดเนื้อไม้ และเฉือนต้นตอให้เป็นรูปอย่างเดียวกับที่เฉือนตาพันธุ์ดี แล้วนำไปติดกับต้นตอ เอาพลาสติกพันเว้นให้ส่วนตาโผล่ออกหรือพันปิดตาก็ได้
4. การเสียบยอด การเสียบยอดกิ่งองุ่นเป็นวิธีที่นิยมกันมากเช่นกัน โดยการปลูกพันธุ์องุ่นป่าไว้ในภาชนะหรือแปลงเพาะชำเสียก่อนจนตั้งตัว หรืออาจจะปลูกพันธุ์องุ่นป่าเป็นต้นตอไว้ในแปลงอย่างน้อย 1 ปี แล้วจึงทำการเสียบยอด กิ่งพันธุ์องุ่นที่นำมาเสียบยอดควรมีขนาดเท่ากันกับต้นตอ หรือขนาดใกล้เคียงกันกับต้นตอ วิธีการให้เฉือนต้นตอเป็นรูปปากฉลาม และเฉือนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่ม แล้วจึงนำมาเสียบเข้าด้วยกัน พันด้วยพลาสติกให้แน่นกิ่งพันธุ์ดีที่นำ เข้ามาเสียบให้มีตาเพียงตาเดียว กิ่งที่มีหลายตาจะแห้งง่ายทำให้ต่อไม่ติด เมื่อกิ่งติดกันดีแล้วก็จะแตกเป็นต้นใหม่ต่อไป
5. การเสริมราก การเสริมรากไม่ใช้วิธีการขยายพันธุ์โดยตรง แต่เป็นการทำให้มีระบบรากที่แข็งแรงขึ้น ใช้ในกรณีที่ปลูกองุ่นพันธุ์ดีอยู่แล้ว แต่ต้องการให้มีระบบรากที่แข็งแรง หาอาหารได้เก่ง ต้นองุ่นที่จะนำมาเสริมมักใช้ต้นองุ่นป่า วิธีการคือปลูกต้นองุ่นป่าใกล้ๆ กับต้นพันธุ์ดีที่มีอยู่แล้ว เมื่อต้นองุ่นป่าเจริญเติบโตแข็งแรงดีแล้ว เฉือนที่องุ่นพันธุ์และเฉือนปลายกิ่งองุ่นป่าเป็นรูปปากฉลาม แล้วนำมาประ กบกันให้สนิทพันด้วยพลาสติกให้แน่น ก็จะได้ต้นองุ่นที่มี 2 ขา หรือ 2 โคน ถ้าต้องการให้มี 3 ขา ก็ต่อก้านตรงข้ามกับอีกต้นหนึ่ง ขนาดของต้นองุ่นพันธุ์ และองุ่นป่าที่นำมาเสริมรากไม่จำเป็นต้องเท่ากันก็ได้ เมื่ออยู่ไปหลายๆ ปี โคนต้นทั้งสองก็จะเจริญเติบโตจนมีขนาดใกล้เคียงกัน
การปลูกและการดูแลรักษา
1. การเตรียมพื้นที่
การปลูกองุ่นแบ่งตามลักษณะพื้นที่ได้ 2 ลักษณะ คือ พื้นที่ลุ่มซึ่งน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำมาก เช่น แถบที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ มักเป็นที่นาเก่า การปลูกองุ่นในที่แบบนี้จึงต้องยกร่องก่อน ส่วนอีกลักษณะหนึ่งคือการปลูกในพื้นที่ดอน ทีสูงน้ำท่วมไม่ถึง การเตรียมดินปลูกแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันออกไป ดังนี้
1.1 การปลูกแบบยกร่อง
เตรียมพื้นที่โดยการยกร่องให้แปลงมีขนาดกว้าง 6 เมตร ความยาวร่องแล้วแต่ขนาดของพื้นที่ ส่วนความสูงของร่องให้สังเกต จากปริมาณน้ำที่เคยท่วมสูงสุดโดยให้อยู่สูงกว่าแนวระดับน้ำท่วม 50 เซนติเมตร ขนาดร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร ก้นร่องน้ำกว้าง 0.5-0.7 เมตร การปลูกควรปลูกแถวเดียวตรงกลางแปลง เว้นระยะระหว่างหลุมให้ห่างกัน 3-3.50 เมตร
1.2 การปลูกในที่ดอน
ควรไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืชและทำให้ดินร่วนซุย ใช้ระยะปลูก 3x4-3.50x5 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน
2. วิธีการปลูก
1. ควรขุดหลุมปลูกให้มีขนาดกว้าง ยาว และลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร
2. ผสมดิน ปุ๋ยคอก และปุ๋ยร๊อคฟอสเฟต เข้าด้วยกันในหลุมให้สูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม
3. ยกถุงกล้าต้นองุ่นวางในหลุม โดยให้ระดับของดินในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย
4. ใช้มีดที่คมกรีดถึงจากก้นขึ้นมาถึงปากถุงทั้ง 2 ด้าน (ซ้ายและขวา)
5. ดึงถุงพลาสติกออก โดยระวังอย่าให้ดินแตก
6. กลบดินที่เหลือลงไปในหลุม
7. กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น
8. ป้กไม้หลักและผูกเชือกยึด เพื่อป้องกันลมพัดโยก
9. หาวัสดุคลุมดินบริเวณโคนต้น เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง
10. รดน้ำให้โชก
11. ทำร่มเงา เพื่อช่วยพรางแสงแดด
3. การทำค้าง
การทำค้างขจะทำหลังจากที่ปลูกองุ่นแล้วประมาณ 1 ปี ซึ่งต้นองุ่นจะสูงพอดีที่จะขึ้นค้างได้ ค้างต้นองุ่นมีหลายแบบ ด้วยกันแต่แบบที่นิยมกันมากคือ ค้างแบบเสาคู่แล้วใช้ลวดขึง มีวิธีการและขั้นตอน ดังนี้
- การเลือกเสาค้าง เสาค้างอาจใช้เสาซีเมนต์หน้า3 นิ้ว หรือ 4 นิ้วก็ได้ เสาค้างซีเมนต์ จะแข็งแรงทนทานอยู่ได้นานหลายปี แต่มีราคาแพงและหนัก เวลาทำค้างต้องเสียแรงงงานมาก ถ้าใช้เสา ไม้ให้ใช้ไม้เนื้อแข็งขนาดหน้า 2x3 นิ้ว หรือหน้า 2x4 นิ้ว หรือเสากลมก็ได้ เสาควรยาวประมาณ 2.5-3 เมตร หรือยาวกว่านี้ ซึ่งเมื่อปักลงดินเรียบร้อยแล้ว ให้เหลือส่วนที่อยู่เหนือดินประมาณ 1.50 เมตร
- การปักเสา ให้ปักเป็นคู่ 2 ข้างของแปลงในแนวเดียวกัน โดยให้เสาห่างกัน 2 เมตร และเมื่อติดคานแล้ว ให้เหลือหัวไม้ยื่นออกไปทั้งสองข้างๆ ละ 50 เซนติเมตร ถ้าปักเสาห่างกัน 3 เมตร เมื่อติดคานบนแล้วจะพอดีหัวไม้ การติดคานเชื่อมระหว่างเสาแต่ละคู่ให้ใช้น๊อตเหล็กเป็นตัวยึด ไม่ควรยึดด้วยตะปูเพราะจะไม่แข็งแรงพอ ระยะห่างระหว่างเสาแต่ละคู่ประมาณ 10-20 เมตร ยิ่งปักเสาถี่จะยิ่งแข็งแรงทนทานแต่ก็สิ้นเปลืองมากบางแห่งจึงปักเสาเพียง 3 คู่ คือ หัวแปลง กลางแปลง และท้ายแปลง และระหว่างเสาแต่ละคู่ ให้ค้างไม้รวกช่วยค้ำไว้เป็นระยะๆ ซึ่งก็สามารถใช้ได้และประหยัดดีแต่ต้องคอยเปลี่ยนค้างไม้รวกบ่อย
- การขึงลวด ลวดที่ใช้ทำค้าง ให้ใช้ลวดขนาดใหญ่พอสมควรคือ ลวดเบอร์ 11 ซึ่งลวดเบอร์ 11 หนัก 1 กิโลกรัม จะยาวประมาณ 18 เมตร ให้ขึงลวดพาด ไปตามคานแต่ละคู่ตลอดความยาวของแปลง โดยใช้ลวด 4-6 เส้น เว้นระยะลวดให้ห่างเท่าๆ กัน ที่หัวแปลงและท้ายแปลง ให้ใช้หลักไม้ขนาดใหญ่ตอกฝังลงไปในดินให้แน่น แล้วใช้ลวดโยงจากค้างมามัดไว้ที่หลักนี้เพื่อให้ลวดตึง หลังจากขึงลวดเสร็จ แล้วให้ตรวจดูว่าลวดหย่อนตกท้องช้างหรือไม่ ถ้าหย่อนมากให้ใช้ไม้รวกขนาดใหญ่ปักเป็นคู่ตามแนวเสาค้าง แล้วใช้ไม้รวก อีกอันหนึ่งพาดขวางผูกด้านบนในลักษณะเดียวกับค้าง เพื่อช่วยรับน้ำหนักเป็นระยะๆ ไปตลอดทั้งแปลง เพราะเมื่อต้นองุ่นขึ้นค้างจนเต็ม แล้วจะมีน้ำหนักมากจำเป็นต้องช่วยรองรับน้ำหนักหรือค้ำยันไว้ไม่ให้ค้างหย่อน
4. การตัดแต่งทรงต้นในระยะเลี้ยงเถา
องุ่นเป็นพืชที่เจริญเติบโต และมีการแตกกิ่งก้านสาขาเร็วจึงจำเป็นต้องมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นองุ่น เจริฐเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง ต้นองุ่นที่ปลูกเสร็จแล้วให้หาไม้รวกปักขนาบลำต้นแล้วจึงผูกต้นชิดกับเสาเพื่อบังคับให้ต้นตั้งตรง ในระหว่างนี้ตาข้างจะเจริญพร้อมกับตายอด ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การเจริญส่วนยอดลดลง ดังนั้นจึงต้องตัดตาข้างทิ้งเสมอๆ และผูกให้ยอดองุ่นตั้งตรง เมื่อต้นองุ่นเติบโตจนมีความสูง 1.5 เมตร หรือจากยอดถึงระดับค้าง หรือเสมอระดับลวด ต้องตัดยอดทิ้ง จัดกิ่งให้อยู่ตรงข้ามกันเพื่อให้ตาข้างที่อยู่บริเวณยอดเจริญออกมา 2 ยอดตรงข้ามกัน ซึ่งจะเอาไว้ทั้ง 2 กิ่งหรือกิ่งเดียวกันก็ได้ ถ้าเอาไว้ 2 กิ่งให้จัดกิ่งทั้งสองอยู่ตรงข้ามกัน

การไว้ทั้ง 2 กิ่งมักพบปัญหาคือ กิ่งทั้ง 2 เจริญเติบโตไม่เท่ากัน ทำให้การกระจาย ของผลไม่สม่ำเสมอกันจึงมักนิยมไว้กิ่งเพียงกิ่งเดียว คือหลังจากที่ตัดยอด และตาแตกออกมาเป็นกิ่งแล้ว ให้เลือกกิ่งที่สมบูรณ์ แข็งแรงไว้เพียงกิ่งเดียว อีกกิ่งหนึ่งตัดออก กิ่งที่คงค้างไว้ของทุกต้นให้จัด กิ่งหันไปในทิศทางเดียวกันคืนหันไปทางหัวแปลงหรือท้ายแปลง หลังจากที่จัดกิ่งให้หันไปในทิศที่ต้องการแล้ว เมื่อกิ่งนั้นยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ให้ตัดยอดออก กิ่งนั้นจะแตกตาใหม่เติบโตเป็นกิ่งใหม่ 2 กิ่งให้คงเหลือ ไว้ทั้ง 2 กิ่ง และเมื่อกิ่งใหม่ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ก็ตัดยอดอีกและเหลือไว้ทั้ง 2 กิ่งเช่นเดียวกัน ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งองุ่นเต็มค้างจึงหยุดการตัดยอด ในระหว่างที่ตัดยอดให้กิ่งแตกใหม่นั้น จะต้องจัดกิ่งให้กระจายเต็มค้าง อย่างทั่วถึงอย่าให้ทับกันหรือซ้อนกันมาก จัดให้กิ่งอยู่บนค้างเสมอ อย่าให้กิ่งชูโด่งขึ้นไปด้านบนหรือห้อยย้อยลงด้านล่าง การจัดกิ่งให้อยู่ในที่ที่ต้องการอาจจะใช้เชือกกล้วยผูกมักกับลวดก็ได้ เพราะเชือกกล้วยจะผุเปื่อยเร็ว ทำให้การตัดแต่งกิ่งในครั้งต่อไปทำได้สะดวก กิ่งเหล่านี้เรียกว่า "เคน" ซึ่งเป็นกิ่งที่ใช้ตัดแต่งเพื่อการออกดอกต่อไป ช่วงการเจริญเติบโตของต้นองุ่นตั้งแต่ปลูกตัดแต่งทรงต้นจนต้นมีอายุ พอที่จะตัดแต่งกิ่งได้เรียกว่า "ระยะเลี้ยงเถา" ซึ่งใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน
5. การตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ออกดอก
ต้นองุ่นที่นำมาปลูกในบ้านเรานั้นถ้าไม่ตัดแต่งกิ่งแล้วจะไม่ออกดอกหรือออก เพียงเล็กน้อยให้ผลที่ไม่สมบูรณ์ การจะให้ต้นองุ่นออกดอกได้ต้องตัดแต่งกิ่งช่วยหลังจากต้นองุ่นพักตัว อย่างเต็มที่แล้วและก่อนตัดแต่งกิ่ง ต้องงดการให้น้ำ 7 วัน เพื่อให้องุ่นออกดอกได้มากอายุการตัดแต่งให้ ออกดอกในครั้งแรกหรือ "มีดแรก" ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น อายุของต้น และพันธุ์ เป็นต้น เช่น
- องุ่นพันธุ์คาร์ดินัล ตัดแต่งได้เมื่ออายุ 9-10 เดือน หลังจากการปลูกในแปลงจริง
- องุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา ตัดแต่งกิ่งได้เมื่ออายุ 10-12 เดือน หลังจากปลูกในแปลงจริง
กิ่งที่จะตัดแต่งเพื่อให้ออกดอกจะต้องเป็นกิ่งที่แก่จัด กิ่งเป็นสีน้ำตาล ใบแก่จัด ดังนั้นก่อนการตัดแต่งจะต้องงดให้น้ำ 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ต้นองุ่นพักตัวอย่างเต็มที่ การตัดแต่งให้ใช้กรรไกร ตัดกิ่งช่วงสุดท้ายให้สั้นลง ความยาวของกิ่งที่เหลือขึ้นอยู่กับพันธุ์องุ่นด้วย เช่น
- พันธุ์คาร์ดินัล ให้ตัดสั้นเหลือเพียง 3-4 ตา
- พันธุ์มะละกา ให้ตัดสั้นเหลือเพียง 5-6 ตา
ถ้าเป็นกิ่งอ่อนควรเว้นตาไว้เพิ่มขึ้นและนำกิ่งที่ตัดออกจากแปลงปลูกไปเผาทิ้งหรือฝังเสีย อย่าปล่อยทิ้งไว้ใต้ต้นเพราะจะเป็นที่อยู่อาศัยของโรคแมลงต่างๆ ที่จะเข้าทำลายองุ่นได้ แล้วจึงเริ่มให้น้ำแก่ต้นองุ่น หลังจากนั้น 15 วันต้นองุ่นจะเริ่มแตกกิ่งใหม่ ซึ่งกิ่งใหม่ที่แตกออกมานี้จะมี 2 พวกคือ พวกหนึ่งมีช่อดอกอยู่ด้วย และอีกพวกหนึ่งมีแต่ใบอย่างเดียว สามารถสังเกตได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ คือ ถ้ากิ่งไม่มีช่อดอกติดออกมาด้วยแสดงว่า กิ่งนั้นจะมีแต่ใบอย่างเดียว เพราะช่อดอกจะปรากฏอยู่บริเวณโคนกิ่ง ที่แตกออกมาใหม่นี้เท่านั้น ต่อจากนั้นอีก 15 วัน ดอกก็จะเริ่มบานจากโคนช่อดอกไปยังปลายช่อดอกใช้เวลา 2 วันก็จะบานหมดทั้งช่อ ในช่วงดอกบานนั้นเป็นช่วงที่อ่อนแอ ถ้ามีฝนตกหนักอาจทำให้ดอกร่วงและเสียหายได้

6. การปฏิบัติหลังจากตัดแต่งกิ่ง
6.1 การตบแต่งกิ่งและการจัดกิ่ง หลักงจากการตัดแต่งกิ่งได้ 15 วัน องุ่นจะแตกกิ่งใหม่ออกมาจำนวนมาก มีทั้งกิ่งที่มีช่อดอก กิ่งที่มีแต่ใบอย่างเดียว และกิ่งแขนงเล็กๆ ซึ่งกิ่งแขนงเล็กพวกนี้ให้ตัดออกให้หมดเหลือไว้เฉพาะกิ่งที่มีช่อดอก และกิ่งที่มีแต่ใบอย่างเดียวที่เป็นกิ่งขนาดใหญ่เท่านั้น นอกจากนี้ใบที่อยู่โคนๆ กิ่งก็ให้ตัดออกด้วย เพื่อให้โปร่งไม่ทึบเกินไป เมื่อตัดแต่งกิ่งแล้ว และเห็นว่ากิ่งยาวพอสมควรจัดกิ่งให้อยู่บนค้างอย่างเป็นระเบียบ กระจายตามค้างและไม่ทับซ้อนกันหรือก่ายกันไปมา เพราะกิ่งที่แตกออกมาใหม่จะแตกออกทุกทิศทุกทางเกะกะไปหมด วิธีจัดกิ่งคือ โน้มกิ่งให้มาพาดอยู่บนลวดแล้วอาจผูกด้วยเชือกกล้วย หรือใบกล้วยแห้งฉีกเป็นริ้วๆ ไม่ให้กิ่งที่ชี้ขึ้นไปด้านบนหรือห้อยย้อยลงด้านล่าง เพราะจะไม่สะดวกในการปฏิบัติงาน เวลาจัดกิ่งต้องระมัดระวังอย่าให้กระทบกระเทือนดอก เพราะจะฉีกขาดเสียหายได้ง่าย พยายามจัดให้ช่อดอกห้อยลงใต้ค้างเสมอเพื่อสะดวกในการปฏิบัติงานต่างๆ ในสวน
6.2 การตัดแต่งช่อดอก หลังจากจัดกิ่งเรียบร้อยแล้ว ช่อดอกจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งต้นองุ่นออกดอกมากเกินไป ถ้าปล่อยไว้ทั้งหมดจะทำให้ต้นโทรมเร็ว คุณภาพของผลของผลไม่ดีเท่าที่ควร ฉะนั้นถ้าเห็นว่า มีช่อดอกมากเกินไปให้ตัดออกบ้าง การตัดแต่งช่ออาจทำตั้งแต่กำลังเป็นดอกอยู่ก็ได้ แต่ไม่ค่อยนิยม เพราะไม่แน่ว่าช่อที่เหลือจะติดผลดีหรือไม่ จึงแนะนำให้ตัดแต่งช่อที่ติดเป็นผลเล็กๆ แล้ว โดยเลือกช่อที่เห็นว่ามีขนาดเล็กรูปทรงไม่สวย ติดผลไม่สม่ำเสมอ มีแมลงทำลายและเหลือช่อที่มีรูปทรงสวย ไว้ให้กระจายอยู่ทั่วทุกกิ่งอย่างสม่ำเสมอ
6.3 การตัดแต่งผล องุ่นที่ปลูกันอยู่ปัจจุบันในบ้านเรามักติดผลแน่นมาก ถ้าไม่ตัดแต่งผลในช่อจะแน่นเกินไป ทไให้ผลที่ได้มีขนาดเล็ก คุณภาพไม่ดี หรือเบียดเสียดกันจนผลบิดเบี้ยวทำให้ดูไม่สวยงาม จำเป็นต้อง ตัดแต่งผลใสช่อออกบ้างให้เหลือพอดี ไม่แน่นเกินไปหรือโปร่งเกินไป การตัดแต่งผลออกจากช่อมักทำ 1-2 ครั้ง เมื่อผลโตพอสมควร ผลองุ่นอ่อนที่ตัดออกมาไปดองไว้ขายได้ วิธีการให้ใช้กรรไกรขนาดเล็กสอดเข้าไปตัดที่ขั้วผล อย่าใช้มือเด็ดหรือดึง เพราะจะทำให้ช่อผลช้ำเสียหาย ฉีกขาด และมีส่วนของเนื้อผลติดอยู่ที่ขั้วทำให้โรคเข้าทำลายได้ง่าย
ข้อควรระวัง เมื่อองุ่นติดผลแล้ว ผู้ที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในส่วนต้องสวมหมวกหรือโพกศีรษะเสมอ อย่าให้เส้นผมไปโดนผลองุ่นจะทำให้ผลองุ่นเน่าเสียได้
6.4 การใช้สารฮอร์โมน สารฮอร์โมนที่ใช้มีวัตถุประสงค์เพื่อข่วยให้ช่อดอกยืดยาวขึ้น ทำให้ช่อโปร่ง ผลไม่เบียดกันมาก ประหยัดแรงงานในการตัดแต่งผล นอกจากนี้ยังช่วยให้ผลยาว ผลโตขึ้นสวยงาม รสชาติดี สีสวย หวาน กรอบ ผลองุ่นที่ชุบด้วย ฮอร์โมนจึงขายได้ราคาดี
สำหรับพันธุ์องุ่นที่นิยมใช้สารฮอร์โมนคือ พันธุ์ไวท์มะละกา เพราะติดผลดกมาก จนต้องตัดแต่งผลทิ้งเป็นจำนวนมาก การใช้สารฮอร์โมนจึงช่วยให้ช่อผลยืดยาวขึ้นไม่ต้องตัดแต่งมากและ ช่วยในผลขยายใหญ่ยาวขึ้นดูสวยงาม ส่วนพันธุ์คาร์ดินัลไม่ค่อยนืยมใช้เพราะองุ่นพันธุ์นี้ติดผลไม่ค่อยดก ผลไม่เบียดกันแน่น ถ้าใช้ฮอร์โมนจะทำให้ช่อองุ่นดูโหรงเหรงไม่น่าดู ปกติผลองุ่นพันธุ์นี้โตอยู่แล้วและเป็นผลทรงกลม
ส่วนฮอร์โมนที่ใช้ในการยืดช่อผล ขยายขนาดของผลคือ สาร "จิบเบอร์เรลลิน" ซึ่งมีจำหน่ายในท้องตลาด (ชื่อทางการค้าต่างๆ กัน) อัตราที่ใช้ได้ผลคือ 20 พีพีเอ็ม (คือตัวยา 20 ส่วน ในน้ำ 1 ล้านส่วน) นิยมใช้ 1-2 ครั้งคือ ครั้งแรกหลังจากดอกบาน 7 วัน (ดอกบาน 80 เปอร์เซนต์ของทั้งช่อ) ส่วนครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกประมาณ 7 วัน
วิธีใช้ การใช้สารฮอร์โมนนี้อาจใช้วิธีฉีดพ่นไปที่ช่อดอกช่อผลให้ทั่วทุกต้นทั้งแปลง ซึ่งแม้จะโดนใบก็ไม่มีผลต่อใบแต่อย่างใด วิธีนี้จะสิ้นเปลืองน้ำยามาก และฮอร์โมนถูกช่อองุ่นไม่ทั่วทั้งช่อแต่ประหยัดเวลาและแรงงานได้มากกว่า ส่วนอีกวิธีคือ ชุบช่อดอก ช่อผล ซึ่งประหยัดน้ำยาได้มากกว่า วิธีการทำง่าย แต่เสียแรงงานมากกว่าอุปกรณ์ง่ายๆ สำหรับการชุปฮอร์โมนคือ หาถุงพลาสติกขนาดโตพอที่จะสวมช่อองุ่นได้มา 2 ใบ ใบแรกใส่น้ำธรรมดาลงไปประมาณ 1 ใน 3 ของถุง ใบที่ 2 ใส่สารฮอร์โมนที่ผสมเตรียมไว้ลงไปประมาณครึ่งถุงเอาถุงใบที่มี ฮอร์โมนสวมลงไปในถุงใบที่มีน้ำ จักปากถุงให้เสมอกันแล้วพับตลบปากถุงออกด้านนอก 2-3 พับ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในถุงไหลออกมาได้ เมื่อจะชุบช่อองุ่นให้วางถุงบนฝ่ามือ เปิดปากถุงให้กว้างแล้วสวมเข้าไปที่ช่อองุ่น บีบฝ่ามือน้ำยาก็จะทะลักขึ้นมาด้านบนทำให้เปียกทั้งช่อ แล้วเปลี่ยนไปชุบช่อต่อๆ ไป เวลาที่ใช้ในการชุบช่อแต่ละช่อเพียวอึดใจเดียว คือ เมื่อบีบถุง น้ำยาทะลักขึ้นไปโดนช่อแล้วก็คลายมือที่บีบแล้วนำถุงน้ำยาออกทันที ฉะนั้นคนที่ชำนาญจะทำได้รวดเร็วมากเมื่อชุบช่อไปได้สักพักน้ำยาในถุงจะพร่องลง ก็เติมลงไปใหม่ให้ได้ระดับเดิม คือ ประมาณครึ่งถุงตลอดเวลา การบีบต้องระวัง อย่าให้แรงมากเพราะน้ำยาจะทะลักล้นออกนอกถุงเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
ข้อควรระวัง การใช้ฮอร์โมนชุบช่อนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้โรคต่างๆ ระบาดจากช่อหนึ่งไปยังอีกช่อหนึ่งได้ง่าย ถ้าเป็นช่วงที่โรคกำลังระบาดอยู่ ควรเติมยากันราลงไปในฮอร์โมนนั้นด้วย และการใช้ฮอร์โมนต้องระวัง เกี่ยวกับการเตรียมสารให้ได้ความเข้มข้นที่กำหนด การผิดพลาดเพียงเล็กน้อยจะทำให้ผลองุ่นร่วงง่าย ขั้วผลเปราะนั่นเอง การเก็บเกี่ยวและการขนส่วจึงต้องระมัดระวังมาก แต่สามารถแก้ไจได้โดยการใช้สาร 4-CPA (4-Chlorophenoxy acetic acid) ฉีดพ่นก่อนเก็บผลประมาณ 10 วัน จะช่วยลดการร่วงของผลได้บ้างแต่ ก็ยังร่วงมากกว่าองุ่นที่ไม่ได้ใช้สารจิบเบอร์เรลลิน
7. การใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยนับว่ามีความสำคัญมากเพราะองุ่นเจริญเติบโตทั้งปีให้ผลผลิตมาก ดังนั้นจึงต้องใช้ธาตุอาหารต่างๆ มาก ปุ๋ยที่ใช้ ได้แก่
7.1 ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ถึงแม้จะมีโรตุอาหารที่พืขต้องการจำนวนน้อย แต่มีคุณสมบัติทำให้โครงสร้างของดินดี ดังนั้นควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักทุกปีๆ ละอย่างน้อย 1 ครั้งๆ ละ 5-10 กิโลกรัม/ต้น แต่ต้องคำนึงเสมอว่าปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักที่จะนำมาใส่นั้น ต้องเป็นปุ๋ยที่มีการย่อยสลายหมดแล้ว โดยเฉพาะปุ๋ยมูลค้างคาวใช้ได้ผลดี
7.2 ปุ๋ยเคมี
7.2.1 ระยะเลี้ยงเถา การใส่ปุ๋ยช่วงนี้เพื่อบำรุงรักษาต้นให้มีการเจริญเติบโตของลำต้น กิ่งก้าน ปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตราที่ใส่ไม่ควรมากนักแต่ควรใส่บ่อยครั้ง เช่น อัตราต้นละ 50 กรัม/ต้น ใส่ทุกๆ 1 เดือน จนถึง 3 เดือน แล้วเพิ่มเป็น 100 กรัม/ต้น ทุกเดือน แต่อัตราการใส่นั้นขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นองุ่นด้วย
7.2.2 องุ่นที่ให้ผลแล้ว ควรแบ่งใส่ 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 หลังการเก็บเกี่ยวมีดแรกใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 12-24-12 อัตราขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นเพื่อบำรุงต้นพร้อมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก
ระยะที่ 2 หลังตัดแต่งกิ่ง 7-15 วันใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 เพื่อบำรุงยอดใบและดอก ที่ผลิขึ้นมาใหม่
ระยะที่ 3 หลังตัดแต่งกิ่ง 45 วัน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 12-12-17 หรือ 4-16-24-4 ใส่เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของผลประมาณ 100 กรัม/ต้น
ระยะที่ 4 หลังตัดแต่งกิ่ง 75 วัน ระยะนี้ควรใส่ปุ๋ยที่มีโปรแตสเซียมสูง ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-50 หรือ 13-13-21 ประมาณ 100 กรัม/ต้น เพื่อเพิ่มคุณภาพผลองุ่นและสีผิวและรสชาติ
7.3 ธาตุอาหารเสริม
ต้นองุ่นที่มีสภาพค่อนข้างโทรม ขาดการบำรุงที่ดีควรเร่งให้รากเจริญเติบโต เสริมสร้าง ความอุดมสมบูรณ์ของต้นให้พัฒนาการได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ปุ๋ยเกร็ดสูตร 15-30-15 หรือ 10-20-30 หรือ 20-20-20 ที่มีธาตุอาหารรองและธาตุปริมาณน้อยอัตรา 60 กรัม ผสมกรดฮิวมิค 100-200 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณใต้ทรงพุ่มให้ทั่วทุกสัปดาห์รวม 3 ครั้ง หรือฉีดพ่นอาหารเสริมทางใบสูตร "ทางด่วน" ซึ่งประกอบด้วย
- สารอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ครอปไจแอน โพลีแซค มอลตานิค และฟลอริเจน เป็นต้น อัตรา 20-30 ซีซี (อาจใช้น้ำตาลกลูโคส) หรือเด็กซ์โตรส 600 กรัม
- ฮิวมิคแอซิค อัตรา 20 ซีซี
- ปุ๋ยเกร็ด สูตร 15-30-15 หรือ 20-20-20 หรือ 10-20-30 ที่มีธาตุอาหารรองและธาตุปริมาณน้อยอัตรา 40-60 กรัม
- สารจับใบ
ส่วนผสมทั้งหมดผสมรวมกันในน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 7 วัน ติดต่อกันนาน 3-4 สัปดาห์
8. การให้น้ำ
องุ่นมีความต้องการน้ำมาก จึงควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมออย่าให้แห้ง โดยเฉพาะหลังจากตัดแต่งกิ่ง ต้องให้น้ำเพื่อให้ดินชื้นอยู่เสมอแต่อย่าให้ถึงกับแฉะ ในระยะแรกแปลงองุ่นจะโล่งไม่มีใบปกคลุมการให้น้ำอาจ จะต้องให้ทุกวัน สังเกตดูว่าอย่าให้ดินในแปลงแห้งมาก การให้น้ำนี้ควรให้อย่างสม่ำเสมอไปเรื่อยๆ จนถึงระยะที่ผลแก่จึงควรงดการให้น้ำ 2-4 สัปดาห์ก่อนวันตัดผล เพื่อให้องุ่นมีคุณภาพดีรสหวานจัดและสีสวย
การให้น้ำก่อนตัดผลจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นบ้าง แต่ผลองุ่นที่ได้จะมีคุณภาพไม่ดี เน่าเสียเร็ว เก็บไว้ได้ไม่นาน
การห่อผล
หลังจากตัดแต่งผลแล้ว ควรห่อผลเพื่อป้องกันแมลงเข้าทำลาย เช่น เพลี้ยแป้ง แมลงวันทอง อีกทั้งยังทำให้ผลองุ่นผิวสวยลูกโตกว่าปกติ และป้องกันความเสียหายจากเส้นผมของผู้ปฏิบัติงานไป โดนผลองุ่นอีกด้วย
วัสดุที่ใช้ห่อผลองุ่นอาจทำเอง โดยใช้กระดาษ เช่น กระดาษกระสอบปูน ซึ่งทนต่อน้ำฝน ไม่ค่อยเปียกน้ำและเมื่อถูกน้ำจะแห้งเร็ว ทำให้ไม่ฉีกขาดง่าย แต่ถ้าใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ จะใช้ได้ไม่นานเพราะ กระดาษหนังสือพิมพ์เมื่อโดนน้ำแล้วจะซับน้ำและเปื่อยยุ่ยได้ง่าย หรืออาจจะซื้อวัสดุห่อผลองุ่นแบบสำเร็จรูปก็ได้ ปัจจุบันจะมีบริษัทผลิตจำหน่ายหลายแบบ แต่ก่อนห่อผลจะต้องฉีดพ่นยากันเชื้อราก่อนหรือใช้วิธีการจุ่มช่อผล เหมือนกับการจุ่มฮอร์โมนยืดช่อดอกก็ได้ เพื่อป้องกันโรคผลเน่าที่เกิดจากเชื้อราเข้าทำลาย
การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวผลองุ่นเป็นขั้นตอนที่สำคัญตอนหนึ่งเพราะองุ่นเป็นผลไม้บ่มไม่ได้ กล่าวคือ เมื่อเก็บมาจากต้นเป็นอย่างไรก็จะยังคงสภาพอยู่อย่างนั้น ไม่หวานขึ้น และไม่สุกมากขึ้นอีกแล้ว การเก็บผลองุ่นจึงต้องเก็บในช่วงที่ผลแก่เต็มที่ และไม่แก่เกินไป ผลองุ่นที่ยังไม่แก่เต็มที่จะมีรสเปรี้ยว รสฝาด คุณภาพของผลไม่ดี สีไม่สวย ส่วนผลองุ่นที่แก่เกินไปจะหวานจัดเกินไป เน่าเสียง่าย เก็บไว้ไม่ได้นาน ผลหลุดร่วงง่าย เป็นต้น
ผลองุ่นที่แก่จัดสังเกตได้หลายอย่าง เช่น กานับอายุตั้งแต่ตัดแต่งจนถึงแก่จัดซึ่งจะแตกต่างกันไปแล้วแต่พันธุ์ เช่น พันธุ์คาร์ดินัล ประมาณ 3 เดือน พันธุ์ไวท์มะละกา ประมาณ 3-3 เดือนครึ่ง อย่างไรก็ตามการกำหนดการแก่ของผลโดยการนับอายุตั้งแต่ตัดแต่ง นี้มีข้อสังเกตบางประการ เช่น ผลองุ่นที่ใช้ฮอร์โมนจะสุกเร็วกว่าผลที่ไม่ใช้ฮอร์โมนหลายวัน และฤดูกาลก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เช่น ฤดูแล้ง ผลจะสุกเร็วกว่าฤดูฝน เป็นต้น จึงต้องใช้อย่างอื่นประกอบด้วย เช่น สีของผลที่แก่จัดจะเปลี่ยนจากสีเขียว (องุ่นทุกพันธุ์ตอนที่ผลยังเล็กอยู่จะเป็นสีเขียว) เป็นสีตามพันธุ์ เช่น พันธุ์ไวท์มะละกา เมื่อแก่จัดเป็นสีเหลืองอ่อนหรือเหลืองใน ส่วนพันธุ์คาร์ดินัลเป็นสีม่วงดำหรือแดงอมดำ เป็นต้น นอกจากสีของผลแล้ว อาจดูจากความหวานของผลโดยการทดลองชิมดูหรือใช้เครื่องวัด เปอร์เซ็นต์ความหวาน (น้ำตาล) หรืออาจดูจากขั้วช่อผล ถ้าผลแก่จัด ขั้วของช่อผลจะ เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาล ดังนั้นการเก็บผลองุ่นที่แก่จัดควรอาศัยหลายๆ อย่างประกอบกันเพื่อ ให้แน่ใจและที่สำคัญอย่างยิ่ง คือควรงดการให้น้ำแก่ต้นองุ่นสักระยะหนึ่งก่อนการตัดผลเพื่อให้ ผลองุ่นมีคุณภาพดี
อย่างไรก็ตาม บางครั้งผู้ปลูกอาจจำเป็นต้องเก็บผลองุ่นที่จะแก่จัดด้วยเหตุหลายประการ เช่น ฝนตกขณะผลกำลังแก่จัดจะทำให้ผลแตกเสียหายมาก โดยเฉพาะพันธุ์คาร์ดินังล และเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พ่อค้าจะเป็นคนกำหนดให้ เก็บผลองุ่นตามเวลาที่เขาต้องการถึงแม้ว่าผลองุ่นจะยังไม่แก่จัดก็ตาม เพราะว่าองุ่นขาดตลาด เป็นต้น
สำหรับองุ่นที่ปลูกอยู่ในแปลงเดียวกันจะแก่ไม่พร้อมกัน การเก็บจำเป็นต้องเก็บหลายครั้ง โดยเลือกเก็บเฉพาะช่อที่แก่เต็มที่ก่อน และทยอยเก็บไปเรื่อยๆ จนหมด การเก็บใช้กรรไกรตัดที่ขั้วผลแล้วบรรจุลงเข่ง หรือลังไม้ที่บุ หรือรองด้วยกระดาษห่อฝอยหรือใบตอง เพื่อป้องกันการชอกช้ำในขณะขนส่ง การขนส่งก็ควรทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้ชอกช้ำมาก และอย่านำเข่งที่บรรจุผลองุ่นวางซ้อนกัน
การพักตัวของต้นองุ่น
หลังจากการเก็บเกี่ยวผลองุ่นหมดทั้งแปลงแล้ว จะต้องปล่อยให้ต้นองุ่นพักตัวระยะหนึ่ง ประมาณ 1-3 เดือน เพื่อให้ต้นองุ่น ได้สร้างอาหารสะสมไว้ในต้น เพื่อใช้สำหรับออกดอกในครั้งต่อไป ในช่วงที่ต้นองุ่นพักตัวไม่ต้องปฏิบัจิงานมากนัก เพียงให้น้ำเป็นครั้งคราวไม่ให้ดินแห้งเกินไป การพักตัวของต้นองุ่นนับว่า เป็นช่วงที่สำคัญซึ่งจะมีผลต่อการออกดอกในครั้งต่อไปมาก ถ้าให้ต้นพักตัวน้อยหรือในช่วงเวลาที่สั้นๆ ผลผลิตครั้งต่อไปก็จะน้อยลง ต้นจะโทรมเร็ว ระยะเวลาในการพักตัวก็แตกต่างกันออกไปตามพันธุ์ เช่น พันธุ์ไวท์มะละกา ควรให้พักตัว 1-2 เดือน ส่วนพันธุ์คาร์ดินัลให้พักตัวน้อยกว่านี้ได้ แต่ไม่ควรต่ำกว่า 15-20 วัน เป็นต้น

เมื่อต้นองุ่นได้พักตัวเต็มที่จะสังเกตได้จากกิ่งองุ่นช่วงสุดท้าย (คือช่วงที่ตัดผลออกไปแล้ว) เป็นสีน้ำตาลใบแก่จัด ใบกรอบก็สามารถ ตัดแต่งครั้งต่อไปหรือที่เรียกว่า "มีดสอง" ได้อีกโดยก่อนการตัดแต่งให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับครั้งแรก หรือ "มีดแรก" คืองดให้น้ำอย่างน้อย 7 วัน แล้วจึงตัดแต่งกิ่ง หลังจากนั้นก็รดน้ำ ให้ปุ๋ย เช่นเดียวกับครั้งแรก โดยให้ปุ๋ยเพิ่มมากขึ้นเพราะต้นองุ่นเจริญเติบโตขึ้นทุกปี ในการตัดแต่งครั้งต่อไปก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน เป็นวงจรอยู่เช่น นี้ตลอดไปดังตัวอย่างประกอบ

ปลูก ==> ต้นพักตัว ==> ตัดแต่งมีดแรก ==> ให้ผล ==> เก็บผล ==> ต้นพักตัว ==> ตัดแต่งมีดสอง ==> ให้ผล ==> เก็บผล ==> พักตัว

จะเห็นว่าจัดสำคัญที่จะทำให้องุ่นออกดอก คือ การพักตัวของต้นและการตัดแต่งกิ่ง ดังนั้น จึงสามารถคำนวณระยะเวลา ให้องุ่นออกดอกตอนไหนก็ได้ ผลแก่ช่วงไหนก็ได้แล้วแต่ความต้องการของผู้ปลูกจึงทำให้มีองุ่นขายใน ท้องตลาดตลอดทั้งปี ผู้ปลูกหลายรายเจาะจงที่จะให้องุ่นของตนแก่และตัดได้ในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น ปีใหม่ตรุษจีน เป็นต้น ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดต้องการองุ่นมากทำให้ได้ราคาดี แต่ก็มีหลายรายที่พ่อค้าจะเป็นผู้กำหนดว่าสวนใครควรจะตัดแต่ง ช่วงไหนเพื่อให้พ่อค้าประจำมีองุ่นส่งตลาดได้ทั้งปี จะเห็นว่าการที่สามารถบังคับให้องุ่นออกผลตามที่ต้องการเป็น ข้อได้เปรียบประการหนึ่งซึ่งการปลูกในเขตหนาวไม่สามารถทำได้
โรคขององุ่น
องุ่นมีโรคเกิดทำลายหลายชนิด นับตั้งแต่ต้นเล็กๆ ไปจนถึงระยะติดดอกออกผลจึงจำเป็นต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด การที่องุ่นที่ปลูกในประเทศไทยมีโรคระบาดรุนแรงหลายชนิดก็เนื่องมาจากสภาพอากาศร้อนชื้น มีฝนตกชุก และมีการตัดแต่งกิ่งองุ่นให้ออกดอกติดผลตลอดปีจึงมีส่วนทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่ายเกือบตลอดปีเช่นกัน ขณะนี้ปัญหาเรื่องโรคจึงเป็นปัญหาที่สำคัญของสวนองุ่นอย่างมาก
โรคขององุ่นที่ระบากรุนแรงและทำความเสียหายร้ายแรง ดังนี้
1. โรคราน้ำค้าง (Downy mildew)
สาเหตุเกิดจากเชื้อรา PLasmopara viticola โรคราน้ำค้างนับว่าเป็นโรคที่สำคัญที่สุดสำหรับการปลูกองุ่นในบ้านเรา เป็นโรคที่ระบาดรุนแรงทำความเสียหาย มากระบาดได้ทั้งปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนจะระบาดอย่างรุนแรง เพราะความชื้นในอากาศมีสู
ลักษณะอากา โรคนี้เกิดได้กับส่วนต่างๆ ของต้นองุ่นทั้งใบ ช่อ ดอก ยอดอ่อน เถา และช่อผล อาการที่สังเกตได้คื
- อาการบนใบองุ่น ใบที่ถูกโรคทำลายในระยะแรกจะเห็นเพียงจุดเล็กๆ สีเหลืองปนเขียวทางด้านบนของใบ ต่อมาจะขยายเป็นแผลโตขึ้นขนาดของรอยแผลไม่แน่นอน ในระยะนี้ถ้าดูด้านล่างของใบตรงที่เป็นแผลจะพบเชื้อราสีขาวอยู่เป็นกลุ่นเห็นได้ชัด ซึ่งตรงกลุ่มนี้เองจะมีส่วนขยายพันธุ์สามารถที่จะเจริญแพร่ระบาดติดต่อไปยังใบอื่นๆ หรือแปลงอื่นๆ โดยปลิวไปกับลม อาการของโรคจะสังเกตได้ก็ต่อเมื่อเชื้อราเข้าทำลายแล้ว 4-6 วัน
- อาการที่ยอดอ่อน ยอดอ่อนที่ถูกโรคเข้าทำลายจะเคระแกร็น ยอดสั้น มีเชื้อราสีขาวขึ้นปกคลุมยอดเห็นได้ชัดเจน ยอดอ่อนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งตายในที่สุด
- อาการที่ช่อดอก ช่อดอกที่รับเชื้อจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือเป็นหย่อมๆ อีก 2-3 วัน ต่อมาจะเห็นเชื้อราสีขาวขึ้นที่ ช่อดอกเห็นได้ชัด ช่อดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งติดเถา โดยช่อดอกอาจแห้งจากโคนช่อ ปลายช่อ หรือกลางช่อก็ได้
- อาการที่ช่อผล จะเกิดกับผลอ่อน โดยครั้งแรกจะมีลักษณะเป็นจุดหรือลายทางๆ สีน้ำตาลที่ผล ผลเริ่มแห้งเปลือกผลเหี่ยวเปลี่ยนเป็นสีเทาปนสีน้ำเงินหรือน้ำตาลแก่ ถ้าเป็นมากผลจะเหี่ยวหมดทั้งช่อ
- อาการที่เถา-ที่มือเกาะ อาการที่มือเกาะหรือที่หนวดนั้นเริ่มจากมือเกาะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนเขียว และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแห้งติดเถา สำหรับอาการที่เถาองุ่นผิวเปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล มองเห็นเชื้อราสีขาวตรงกลางแผลได้ชัดเจนทำให้ยอดเคระแกร็น
การป้องกันกำจัด
1. ทำความสะอาดสวน อย่าให้รกรุงรัง กิ่งต่างๆ รวมทั้งใบที่ตัดออกจากต้นให้นำไปเผาทิ้งหรือฝัง อย่าปล่อยทิ้งไว้ในสวนจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค
2. หลังจากที่ต้นองุ่นแตกกิ่งใบใหม่แล้ว ควรจัดกิ่งเถาให้กระจายทั่วๆ ค้าง อย่าให้ซับซ้อนกันมาก กิ่งที่ไม่ต้องการให้ตัดแต่งออกให้โปร่ง อย่าให้กิ่งห้อยย้อยลงจากค้างให้อากาศถ่ายเทสะดวกจะช่วยลดความชื้นลง และช่วยลดการระบาดของโรค
3. การฉีดสารเคมีป้องกันกำจัด ควรทำเป็นระยะๆ ตามความเหมาะสม โดยเริ่มฉีดครั้งแรกเมื่อเริ่มแตกยอดอ่อน ครั้งที่สองเมื่อ มีใบอ่อน 3-4 ใบ สารเคมีที่ใช้ป้องกันกำจัดโรคนี้ได้ดี เช่น ไดแทนเอ็ม 45 อัตรา 4 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 20 ลิตร หรือโลนาโคล อัตรา 1 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 20 ลิตร เป็นต้น ควรเติมสารจับใบลงไปด้วย โดยเฉพาะในฤดูฝนจะช่วยให้สารเคมีจับใบได้ดีไม่ถูกชะล้างอย่างรวดเร็ว
2. โรคแอนแทรคโนส หรือโรคผลเน่า หรือโรคแบลคสปอต (Antracnose or black spot)
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Colletotricchum gloeosporioides
ลักษณะอาการโรคผลเน่าหรือโรคแอนแทรคโนสนี้ ชาวบ้านมักเรียกว่า "โรคอีบุบ หรือ โรคลุกบุบ" เพราะอาการที่เกิดกับผลนั้นจะเป็นแผลลึกลงไปในเนื้อ โรคนี้เป็นโรคที่ระบาดอย่างช้าๆ แต่ก็รุนแรงและรักษายาก บางท้องที่บางฤดูก็เป็นปัญหาสำหรับการปลูกองุ่นมากเช่นกัน โรคนี้นอกจากจะเป็นที่ผลซึ่งพบได้ทั่วๆ ไปแล้วยังเป็นกับเถาและใบอีกด้วย โดยเชื้อราสามารถแพร่ระบาดไปกับลมและน้ำปกติแล้ว โรคแอนแทรคโนสนี้จะระบาดทำความเสียหายกับทุกส่วนขององุ่น โดยเฉพาะส่วนที่ยังอ่อนอยู่ เช่น ยอดอ่อน กิ่งอ่อน ใบอ่อน ส่วนที่ผลก็เป็นโรคได้ทั้งในระยะผลอ่อนจนถึงระยะผลโต
- อาการที่ผล โรคนี้สามารถเข้าทำลายผลองุ่นได้ทุกขนาด ตั้งแต่เล็กจนโต ในผลอ่อนที่เป็นโรคจะเห็นจุดสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม และบุ๋มลงไปเล็กน้อย ขอบแผลสีเข้ม ถ้าอากาศชื้นๆ จะเห็นจุดสีชมพู สีส้มตรงกลางแผล ส่วนในผลแก่จะเห็นบริเวณเน่าเป็นสีน้ำตาล มีจุดสีชมพู สีส้ม เกิดขึ้นบริเวณตรงกลางแผลเต็มไปหมด ถ้าโรคยังคงเป็นต่อไปจะทำให้ผลแห้ง เปลือกเหี่ยว ผลติดกับช่อไม่ร่วงหล่น เมื่อโดนน้ำหรือน้ำค้าง เชื้อโรคก็ระบาดจากผลที่เป็นแผลไปยังผลอื่นๆ ในช่อจนกระทั่งเน่าเสียหมดทั้งช่อ
- อาการที่ใบ ในระยะที่เป็นโรคจะเห็นที่ใบเป็นจุดเล็กๆ สีน้ำตาลเป็นแผลมีรูปร่างไม่แน่นอน ตรงกลางแผลมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม ถ้าอากาศแห้งตรงที่เป็นแผลจะหลุดหายไป ทำให้ใบเป็นรู บางครั้งใบก็ม้วนงอลงมาด้านล่างแต่ไม่ร่วงในทันที ใบที่เป็นโรคจะไม่เติบโตต่อไปเมื่อเป็นโรคมากขึ้นใบจะร่วง
- ยอดอ่อน จะเป็นจุดเล็กๆ สีน้ำตาลเข้ม ต่อมาขอบแผลจะขยายออกตามความยาวของกิ่งคือ รอยแผลหัวแหลมท้ายแหลม ขอบแผลเป็นสีน้ำตาลแก่ถึงสีดำ กลางแผลสีดำขรุขระ ในฤดูฝนอากาศมีความชื้นมาก จะเห็นเป็นจุดเล็กๆ สีชมพูอยู่ตรงกลางแผล ถ้าเป็นแผลมากๆ ยอดจะแคระแกร็น มีการแตกยอดอ่อนมาก แต่แตกออกมาแล้วแคระแกร็น ใบที่แตกออกมาใหม่นี้ก็จะมีขนาดเล็กสีซีดผิดปกติและกิ่งจะแห้งตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด
1. ทำความสะอาดสวน เก็บกวาดกิ่งใบองุ่นที่ตกอยู่ใต้ต้นไปเผาทิ้งหรือฝังดินให้หมดเพราะส่วนต่างๆ เหล่านี้เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคได้
2. เมื่อพบว่าองุ่นเป็นโรคให้ตัดส่วนที่เป็นโรคออกก่อน แล้วจึงฉีดพ่นด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อรา จะช่วยทำลายเชื้อโรคที่หลงเหลืออยู่ได้มาก
3. คอยตัดแต่งกิ่ง จัดกิ่งให้โปร่ง จะช่วยลดปัญหาได้มาก โดยเฉพาะในช่วงที่โรคระบาดมาก
4. ป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อราเป็นระยะๆ คือ พ่นสารเคมีครั้งแรกหลังจากตัดแต่งกิ่งที่เหลือ และครั้งที่สองเมื่อเริ่มแตกใบอ่อน ส่วนครั้งต่อๆ ไปดูตามความเหมาะสม สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราที่ใช้ได้ผลดีกับโรคนี้ เช่น บีโนมิล หรือ เบนเลท อัตรา 5-15 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ แคปแทน 48 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือไดแทนเอ็ม 45 อัตรา 4 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 20 ลิตร
3. โรคราแป้ง (Powdery mildew)
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Oidium tuckeri
ลักษณะอาการเป็นโรคที่ระบาดรุนแรงอีกโรคหนึ่งหรือเรียกว่า "โรคขี้เถ้า" มักระบาดมากในช่วงอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง คือ หลังฤดูฝน และในฤดูหนาว เท่านั้น จะเข้าทำลายทุกส่วนของต้นองุ่นที่เห็นได้ชัดคือ
- อาการบนใบ ด้านบนของใบจะเห็นเป็นหย่อมๆ หรือทั่วไปบนใบ ต่อมาผงสีขาวจะเปลี่ยนเป็นสีเทาและดำ บริเวณใบที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายจะมีสีเหลืองอ่อนในระยะแรก ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือดำ ถ้าเป็นโรคมากๆ ใบจะมีอาการม้วนงอได้
- อาการบนดอก ถ้าเชื้อราทำลายในขณะที่ยังเป็นดอกจะเหี่ยวแห้งติดกับกิ่ง
- อาการบนผล พบว่าเป็นทั้งผลอ่อนจนถึงผลแก่ จะเห็นผลขาวบนผลต่อมาเนื้อผิวของผลที่ถูกทำลายจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลบางครั้งผลจะแตกจนเห็นเมล็ด
- อาการที่กิ่งอ่อน จะทำให้กิ่งแห้งตายไปหรือแคระแกร็นไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
การป้องกันกำจัด
1. ตัดกิ่ง ใบหรือผลที่เป็นโรคเผาทำลายเพื่อมิให้เชื้อโรคแพร่ขยายไปยังส่วนอื่น
2. ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัด เช่น บีโนมิล อัตรา 5-15 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ แคปแทน 48 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
แมลงศัตรูขององุ่น
1. หนอนกระทู้หอม เป็นหนอนที่มีความสำคัญมากชนิดหนึ่ง ชาวสวนเรียกว่า "หนอนหนังเหนียว" ทำความเสียหายต่อทุกส่วนขององุ่นทั้งใบ ดอก ผลและยอดที่จะเจริญไปเป็นดอกและผลในฤดูถัดไป หนอนกระทู้หอมตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กวางไข่เป็นกลุ่ม 20-80 ฟอง บริเวณด้านหลังใบ ไข่ปกคลุมด้วยขนสีขาวหนอยวัยอ่อนจะแทะผิวใบพรุนเป็นร่างแหทำให้ใบแห้งตายและเมื่อหนอนโตเต็มที่จะกัดกินใบอ่อน ช่อดอกหรือผลอ่อนขององุ่นเสียหาย
การป้องกันกำจัด
1. โดยการใช้เชื้อไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอมฉีดพ่นเมื่อพบตัวหนอนบนใบองุ่น หนอนที่มากัดกินใบจะได้รับเชื้อไวรัสทำให้เป็นโรค Grassarie one และตายภายใน 1-2 วัน
2. ใช้กับดักแสงไฟ (Black light) หรือกาวดักเหนียวเพื่อดักผีเสื้อทั้งตัวผู้ตัวเมีย ก่อนจะขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไป โดยวางไว้ในสวนองุ่นโดยเฉพาะช่วงตัดแต่งกิ่งและยอดอ่อนเริ่มแตกออกมา
3. โดยการใช้เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ชูริงเจนซิล (Bacillus Thuringicnsis) ใช้ชื่อการค้า เช่น แบคโทสปิน เอชดับบลิวพี, ฟลอร์แบค เอฟซี สำหรับหนอนกระทู้หอม
4. ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกลุ่มคาร์บาเมท เช่น เมทโธมิล 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารกลุ่มยับยั้งการเจริญเติบโต เช่น ปูโพรเฟซิน 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อระงับการลอกคราบของตัวหนอนกระทู้
2. หนอนเจาะสมอฝ้าย ทำลายองุ่นโดยกัดกินส่วนดอกและเมล็ดภายในผลองุ่น ตั้งแต่ระยะติดดอกจนถึงดอกบาน จะพบช่อดอกถูกกัดกินเป็นแถบและระยะช่อผลอ่อนอายุระหว่าง 10-14 วัน หลังจากดอกบานแล้วจะเจาะกินเมล็ดภายในหมดและย้ายไปกัดกินผลอื่นต่อไปผลที่ถูกทำลายจะเป็นรู หนอน 1 ตัว สามารถทำลายได้หลายช่อดอกโดยเฉพาะช่อดอกที่อยู่ใกล้เคียงกัน หนอนมีตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดกลาง ตัวผีเสื้อจะซ่อนอยู่ตามใบแก่ขององุ่น
การป้องกันกำจัด
1. ในระยะติดดอกและผลอ่อนควรหมั่นตรวจดูช่อองุ่น เมื่อพบหนอนหรือตัวผีเสื้อควรจับทิ้งทำลายเพื่อไม่ให้ลุกลามไปช่ออื่น
2. ใช้เชื้อไวรัส NPV ของหนอนเจาะสมอฝ้ายฉีดพ่นเช่นเดียวกับหนอนกระทู้หอม
3. ฉีดพ่นสารเคมีกลุ่มคาร์โบซัลเฟน เช่น พอสซ์ อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
3. เพลี้ยไฟ เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็กใช้ปากเขี่ยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดใบอ่อน ทำให้ยอดใบอ่อนหักงอ ใบแห้งกรอบไม่เจริญเติบโตและตายในที่สุด ถ้าทำลายระยะดอกทำให้ดอกร่วงไม่เกิดผลหรือทำให้ผลมีตำหนิ พบการระบาดตั้งแต่หลังจากตัดกิ่งจนถึงผลโตเต็มที่เนื่องจากองุ่นมีการแตกยอดตลอดทั้งปี
การป้องกันกำจัด
1. ควรหมั่นตรวจดูเพลี้ยไฟตามยอดใบอ่อน ช่อดอกหรือผลอ่อน ถ้าพบเป็นร้อยกร้านสีน้ำตาลควรรีบป้องกันกำจัดทันที
2. ฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นในพุ่มให้ชุ่ม จะทำให้การระบาดลดลงเพราะเพลี้ยไฟไม่ชอบความชื้นสูง
3. ฉีดพ่นสารเคมีกลุ่มคาร์โบซัลแฟน เช่น พอสซ์พ่นให้ทั่วต้น 2 ครั้งห่างกัน 7 วัน
ปฏิทินการดูแลรักษา
ปฎิทินการปฏิบัติดูแลรักษาองุ่น ในเขตภาคตะวันตก

พ.ค.
มิ.ย.
ก.ค.
ส.ค.
ก.ย.
ต.ค.
- ตัดแต่งกิ่ง- ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15- ออกใบพร้อมช่อดอก- ให้น้ำสม่ำเสมอ
-ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลง
- ติดผลขนาดเล็ก- ตัดแต่งผล
- ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15
- ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรคแมลง- ให้น้ำสม่ำเสมอ
- เลือกเก็บเกี่ยวผลผลิต
-ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21
ก่อนเก็บผล 20-25 วัน
พ.ย.
ธ.ค.
ม.ค.
ก.พ.
มี.ค.
เม.ย.
- ตัดแต่งกิ่ง- ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15- ออกใบพร้อมช่อดอก- ให้น้ำสม่ำเสมอ
-ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลง
- ติดผลขนาดเล็ก- ตัดแต่งผล
- ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15
- ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรคแมลง- ให้น้ำสม่ำเสมอ
- เลือกเก็บเกี่ยวผลผลิต
-ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ก่อนเก็บผล 20-25 วัน

ที่มา  www.doae.go.th
http://www.holidayparkkhaoyai.com

2 ความคิดเห็น:

  1. ได้ความรู้เรื่ององุ่นมากเลยครับ .... ฝากบล็อกด้วยครับแลกเปลี่ยนความรู้กัน
    http://gurukaset.blogspot.com

    ตอบลบ