มะกอกฝรั่ง
ลักษณะทางธรรมชาติ
* เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่อาจสูงถึง 10 ม.(เท่าสันจั่วหลังคาบ้านสองชั้น) ได้ อายุหลายสิบปี ขนาดผลโต ออกดอกติดผลเป็นพวงขนาดใหญ่ที่ปลายกิ่ง ปลูกได้ในทุกภาค ทุกพื้นที่
และทุกฤดูกาล ออกดอกติดผลได้ตั้งแต่ต้นยังเล็ก (อายุต้น 6 เดือน ความสูง ½-1 ม.หรือรากเริ่มเจริญ) แล้วจะออกดอกติดผลเรื่อยไปตลอดปีแบบไม่มีฤดูกาล ช่วงที่ต้นยังเล็กและเตี้ยเรียกว่า มะกอกเตี้ย ซึ่งขนาดผลจะเล็กและรสชาติยังไม่ดีนัก ต่อเมื่ออายุต้นมากขึ้นหรือต้นใหญ่ขึ้นเรียกว่า มะกอกฝรั่ง ซึ่งขนาดผลจะโตกว่ามะกอกเตี้ยถึงเท่าตัวและรสชาติก็ดีกว่าด้วย ช่วงที่เป็นมะกอกเตี้ยไว้ผลแต่น้อย (ช่อละ 1-2 ผล) แล้วบำรุงให้ถูกต้องเต็มที่ครบวงจรอย่างสม่ำเสมอขนาดผลและรสชาติก็จะเทียบเท่ามะกอกฝรั่งได้เช่นกัน
* เจริญเติบโตดีในดินร่วนปนทราย สภาพดินที่มีความชื้นน้อยๆจะออกดอกติดผลดี สภาพดินเปียกชื้นแฉะ ดินเหนียวอุ้มน้ำจะเกิดอาการใบเหลืองร่วง ไม่ออกดอกติดผลแล้วตายไปในที่สุด
* ต้นโตให้ผลผลิตแล้วเมื่อแตกยอดใหม่จะมีดอกออกตามมาที่ปลายยอดเสมอ ออกดอกติดผลตลอดปีแบบไม่มีรุ่น เป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ผสมตัวเองหรือต่างดอกต่างต้นได้
* เทคนิคบำรุงต้นให้สมบูรณ์อยู่เสมอควรให้ฮอร์โมนบำรุงราก 2-3 เดือน/ครั้งให้ไซโตคินนิน 1-2 เดือน/ครั้ง และการบำรุงต้นแบบให้มีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.(ซากสัตว์ฝังโคนต้น)ต่อเนื่องหลายๆปีจะช่วยให้ต้นมีความสมบูรณ์ดีส่งผลให้ออกดอกติดผลดกตลอดปีแบบไม่มีรุ่นไดh
สายพันธุ์
ที่นิยมปลูก คือ มะกอกเตี้ย(อายุต้น 3 ปี สูงไม่เกิน 2 ม.)และ มะกอกใหญ่(อายุต้น 3 ปี สูง 3-5 ม.)ทั้ง 2 สายพันธุ์ให้ผลผลิตเหมือนกัน
การขยายพันธุ์
ตอน (ดีที่สุด). ชำ. เสียบยอด. เพาะเมล็ด (ไม่กลายพันธุ์/มีรากแก้วทำให้ได้ต้นสูงใหญ่)
ระยะปลูก
- ระยะห่างปกติ 4 X 6 ม. หรือ 6 X 6 ม.
- ระยะชิดพิเศษ 2 X 3 ม. หรือ 2 X 4 ม.
เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ
- ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา(แห้งเก่าข้ามปี) ปีละ 2 ครั้ง
– ให้ยิบซั่มธรรมชาติ ปีละ 2 ครั้ง
- ให้กระดูกป่น ปีละ 1 ครั้ง
- คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง
หมายเหตุ :
- การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่ ปลาสด เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. ฝังปีเว้นปี เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องหลายๆปีจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์สูงพร้อมต่อการบำรุงทุกขั้นตอน
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน ผลหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่ การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้
– ฮอร์โมนธรรมชาติและฮอร์โมนวิทยาศาสตร์จะให้ประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ต่อเมื่อ ต้นมีสภาพความสมบูรณ์สูง
เตรียมต้น
ตัดแต่งกิ่ง :
- ตัดแต่งเพื่อการแตกยอดใหม่ให้ตัดกิ่งกระโดง กิ่งในทรงพุ่ม กิ่งคดงอ กิ่งชี้ลง กิ่งไขว้ กิ่งหางหนู กิ่งเป็นโรค ทั้งนี้ภายในทรงพุ่มควรให้โปร่งจนแสงส่องผ่านลงไปถึงโคนต้นได้
– ตัดทิ้งเพื่อไม่ให้แตกใหม่ป้องกันทรงพุ่มทึบเกินไปให้ตัดชิดลำกิ่งประธาน
– ตัดยอดกิ่งประธาน (ผ่ากบาล) ณ ความสูงต้นตามต้องการ นอกจากช่วยทำให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงแล้วแสงแดดที่ร้อนยังช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดี และเพื่อควบคุมขนาดความสูงทรงพุ่มอีกด้วย
- นิสัยการออกดอกของมะกอกฝรั่งไม่จำเป็นต้องกระทบหนาว แต่ถ้าตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อนช่วงต้นหน้าฝน แล้วเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามลำดับอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์เต็มที่ดีกว่าการตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น
ตัดแต่งราก :
- ต้นอายุยังน้อยไม่ควรตัดแต่งราก แต่ถ้าต้องการสร้างรากใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นใช้วิธีล่อรากด้วยการพูนโคนต้นด้วยดิน 3 ส่วนกับอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน
- ต้นอายุหลายปี ระบบรากเก่าและแก่มาก ให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10-15 ซม. หลังจากให้ฮอร์โมนบำรุงรากไปแล้วต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม
ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงต่อมะกอกฝรั่ง
1.เรียกใบอ่อน + สะสมอาหาร + เปิดตาดอก
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล.+ ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 2-3 รอบห่างกันรอบละ 5-7 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ
– ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 8-24-24(1/2-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
– ให้น้ำปกติ ทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
ธรรมชาติของมะกอกฝรั่งจะออกดอกติดผลได้ทั้งที่ปลายยอดเหนือทรงพุ่ม และด้านข้างของทรงพุ่มจากยอดที่แตกใหม่เสมอ ดังนั้นหากต้องการให้ออกดอก ณ จุดใดของต้นก็ให้ตัดแต่งกิ่งนั้นเมื่อยอดอ่อนแทงออกมาจะมีดอกออกตามมาภายหลังโดยไม่ต้องเปิดตาดอกซ้ำอีกครั้ง
2.บำรุงดอก
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล.+ 15-45-15(400 กรัม)หรือ 0-42-56(400 กรัม)สูตรใดสูตรหนึ่ง + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ เอ็นเอเอ.25 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.
ฉีดพ่นพอเปียกใบ 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรช่วงค่ำ ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้น้ำพอหน้าดินชื้น
หมายเหตุ :
- ช่วงดอกตั้งแต่เริ่มแทงออกมาให้เห็น (ก้านดอกยาว 1-2 ซม.) หรือระยะดอกตูม บำรุงด้วยฮอร์โมน เอ็นเอเอ. 1-2 รอบจะช่วยบำรุงเกสรทั้งตัวผู้และตัวเมียให้สมบูรณ์พร้อมรับผสม การให้ฮอร์โมน เอ็นเอเอ. ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะถ้าให้เข้มข้นเกินไปจะเกิดความเสียหายต่อดอกและถ้าให้อ่อนเกินไปก็จะไม่ได้ผล
- ช่วงดอกเริ่มแทงออกมาใหม่ๆให้แคลเซียม โบรอน.1 รอบ จะช่วยให้ดอกสมบูรณ์ผสมติดดี
- ช่วงดอกตูมควรฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้บ่อยขึ้น เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงจนถึงช่วงดอกบาน
- ช่วงดอกบานควรงดการฉีดพ่นทางใบโดยเฉาะช่วงกลางวัน (08.00-12.00 น.) เพราะอาจทำให้เกสรเปียกจนผสมไม่ติดได้ หากจำเป็นต้องฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้ฉีดพ่นช่วง
หลังค่ำ
- ระยะดอกบานถ้าตรงกับช่วงฝนชุกเกสรจะเปียกชื้นทำให้ผสมไม่ติด แก้ไขโดยกะระยะเวลาบำรุงให้ดอกออกมาแล้วไม่ตรงกับช่วงฝนชุกเท่านั้น แต่ถ้าดอกออกมาตรงกับช่วงแล้งอากาศร้อนมากเกสรจะฝ่อทำให้ผสมไม่ติดเช่นกัน แก้ไขโดยสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศและที่พื้นดิน ทั้งในแปลงปลูกและรอบๆแปลงปลูก……มาตรการบำรุงต้นและดอกให้สมบูรณ์อย่างแท้จริงอยู่เสมอสามารถช่วยลดความสูญเสียได้เป็นอย่างมาก
3.บำรุงผลเล็ก
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล.+ 21-7-14(400 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ ฮอร์โมนไข่ 25 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ฉีดพ่นพอ
เปียกใบ ทุก 7-10 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิด + 25-7-7(250-500 กรัม)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
- ให้น้ำตามปกติ ทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
- เริ่มบำรุงเมื่อผลเท่าเมล็ดถั่วเขียว หรือหลังกลีบดอกร่วง
4.บำรุงผลกลาง
ทางใบ :
ให้น้ำ 100 ล.+ 21-7-14(400 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ ไคโตซาน 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ทุก 7-10 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ
ทางราก :
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 21-7-14(250-500 กรัม)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
- ให้น้ำปกติ ทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
- เริ่มบำรุงเมื่อเปลือกหุ้มเมล็ดเริ่มแข็ง (เข้าไคล) การที่จะรู้ว่าเมล็ดเริ่มเข้าไคลต้องสุ่มเก็บผลมาผ่าดูข้างใน
- วัตถุประสงค์เพื่อขยายขนาดผลและลดขนาดเมล็ด (หยุดเมล็ด-สร้างเนื้อ) ทำให้เนื้อมากแต่เมล็ดลีบเล็ก
– ถ้าต้นติดผลดกมากควรให้ฮอร์โมนน้ำดำ กับ แคลเซียม โบรอน 1-2 รอบ โดยแบ่งให้ตลอดระยะผลกลางจะช่วยให้ต้นไม่โทรมเนื่องจากรับภาระเลี้ยงผลมาก
5.บำรุงผลแก่
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล.+ 0-0-50(400 กรัม)หรือ 0-21-74(400 กรัม)สูตรใดสูตรหนึ่ง + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วันก่อนเก็บเกี่ยว ฉีดพ่นพอเปียกใบ
– ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้ 13-13-21 หรือ 8-24-24(1/2-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
– งดน้ำเด็ดขาด
หมายเหตุ :
- เริ่มให้ก่อนเก็บเกี่ยว 7-10 วัน 1-2 รอบห่างกันรอบละ 5-7 วัน
– การให้ 13-13-21 เหมาะสำหรับที่มีผลรุ่นเดียวกันทั้งต้น หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วต้นมักโทรมจึงต้องเร่งบำรุงฟื้นฟูความสมบูรณ์ของต้น (เรียกใบอ่อน) กลับคืนมาโดยเร็วแล้วเข้าสู่วงรอบการบำรุงใหม่
- การให้ 8-24-24 เหมาะสำหรับต้นที่มีผลหลายรุ่นในต้นเดียวกันหรือประเภททะวายทยอยออก แบบไม่มีรุ่นซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลแก่จัดไปแล้วต้นไม่โทรม ใน 8-24-24 เป็นปุ๋ยประเภทสะสมอาหารเพื่อการออกดอก ซึ่งจะส่งผลให้กิ่งที่ยังไม่ออกดอกติดผลเกิดอาการอั้นแล้วออกดอกติดผลเป็นผลรุ่นใหม่ขึ้นมาอีกได้
การตลาด
ราคาขายมะกอกฝรั่งคละ ที่ตลาดสี่มุมเมือง เฉลี่ยอยู่ที่ 10 บาท/กก. ราคาสูงสุดที่ 15 บาท/กก. ราคาต่ำสุดที่ 5 บาท/กก.
แหล่งข้อมูล : soclaimon.wordpress.com
ขอขอบคุณ : ภาพจากอินเตอร์เน็ต
เป็นข้อมูลดีมากคับ
ตอบลบเยี่ยมครับ
ตอบลบชัดเจนดี
ตอบลบขออนุญาตถามนะคะ ไม่ทราบว่าต้นมะกอกชอบแดดมั้ยคะ ถ้าจะปลูกควรปลูกให้โดนแดดมั้ยคะ
ตอบลบ