วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การเพาะเห็ดโคนน้อย สร้างรายได้เสริม

สวัสดีค่ะ ผู้เยื่ยมชมบล็อก Poo nita farm ของเราค่ะ วันนี้เราก็ได้นำเรื่องที่เป็นประโยชน์มาฝากกันอีกแล้วค่ะ เป็นเรื่องเห็ดๆที่คนไทยนิยมรับประทานกันค่ะ เราลองมารู้จักการเพาะของเห็ดชนิดนี้กันเลยค่ะ
เห็ดโคนน้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โคไพรนัส ไฟมิทาเรียส (Coprinus fimetarrius) จัดอยู่ใน ตระกูลเห็ด (Basidiomycetes ในประเทศไทยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป มีชื่อเรียกตามวัสดุเพาะ เช่น เห็ดถั่ว เห็ดถั่วเหลืองหรือ เห็ดถั่วเน่า เห็ดโคนน้อย เห็ดโคนบ้าน เห็ดโคนขาว(ภาคเหนือ) เห็ดคราม เห็ดปลวกน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)เห็ดโคนเพาะ

เห็ดโคนน้อย เห็ดหมึก(ภาคกลาง) เป็นเห็ดที่ขึ้นง่าย เห็ดชนิดนี้นมีคุณค่าทางอาหารสูงแล้วยังพบว่ามีสรรพคุณทางสมุนไพร ช่วยในการย่อยอาหารและลดเสมหะ สามารถที่จะใช้วัสดุเพาะอื่นๆเพาะได้อีกมากไม่ว่าจะเป็นต้นและใบถั่วต่างๆต้นข้าวโพด ทะลายปาล์มน้ำมัน ผักตบชวา ต้นและใบกล้วย ซึ่งสามารถที่จะนำมาเป็นวัสดุเพาะได้ทั้งสิ้น ล้วนแล้วแต่เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเพาะ เห็ดโคนน้อยคือการสลายตัวง่ายของดอกเห็ด เนื่องจากเป็นเห็ดที่มีวงจรชีวิตสั้นมากไม่เกิน36 ชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่ที่พบคือประมาณ 24 ชั่วโมงเท่านั้น โดยตอนเช้าจะมีขนาดเล็กและจะโต
ขึ้นในช่วงบ่าย ซึ่งจะต้องรีบเก็บ หากปล่อยทิ้งไว้ดอกเห็ดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและสูงชะลูดขึ้น หมวกดอกจะบางและเปลี่ยนเป็นสีดำและสลายตัว เป็นที่มาของชื่อเห็ดหมึกซึ่งไม่สามารถนำมาบริโภคจึงมีระยะเวลาในการให้ผลผลิตค่อนข้างสั้น นอกจากจะทำการลวกให้สุกเสียก่อนก็พอที่จะ
สามารถเก็บได้นานขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดโคนน้อยมีการเจริญเติบโตเร็ว ส่วนของครีบจะสลายกลายเป็นของเหลวสีดำคล้ายหมึกเป็นผลมาจากการย่อยตัวเอง (autolysis) อย่างไรก็ตามในต่างประเทศ ได้มีการนำของเหลวจากการสลายตัวนี้มาใช้ประโยชน์ได้เช่นทำน้ำหมึกเพื่อทำต้นฉบับเอกสารพิเศษเพื่อป้องกันการปลอมแปลง
ขั้นตอนการเพาะสูตรอาหารสำหรับ 100 ตะกร้า
- ฟางแห้ง 100 ฟ่อน
หรือใช้ฟางโม่ 150 กก.
- น้ำ 400 ลิตร
- รำละเอียด 2 กก.
- ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 2 กก.
- ปุ๋ยแคลเซียมไนเตรท สูตร 15-0-0 4 กก.
- กากน้ำตาล 2 กก.
วิธีการปฏิบัติ
วันที่ 1 (วันแรกที่เริ่มปฏิบัติ ไม่ใช่วันในปฏิทิน)
1. ต้มน้ำ ประมาณ 150 ลิตร ในถัง(ถังน้ำมัน 200 ลิตรที่ผ่า 3ใน4) เติมรำละเอียด 1กก. กากน้ำตาล 1 กก. ปุ๋ยแคลเซียมไนเตรทสูตร 15-0-0 2 กก. ปุ๋ยยูเรีย 1 กก. ต้มน้ำจนเดือดเป็นไอขึ้นมา
2. นำฟางแห้งลงต้มหรือลวกจนกระทั่งฟางนิ่ม แล้วตักขึ้นนำไปกองไว้
3. นำพลาสติกมาคลุมกองฟางที่ลวกแล้ว (คลุมให้มิดชิด) บ่มทิ้งไว้ 1 คืน
วันที่ 2
1.นำเชื้อเห็ดมายีให้ร่วน (ขยี้เบา ๆ ) นำมาคลุกกับอาหารเสริม (แป้งข้าวเหนียวผสมรำละเอียดอัตราส่วน 1:1ส่วน) ใช้อัตรา 1 กำมือต่อหัวเชื้อเห็ด 1 ถุง
2. วางตะกร้าพลาสติกสำหรับเพาะเห็ดที่เตรียมไว้วางบนพื้นที่สะอาด( แต่ต้องปูพลาสติกหรือกระสอบฟางรองพื้นก่อน)


3. นำตะกร้าที่ตัดก้นออกสวมลงในตะกร้าเพาะอีกชั้นเพื่อทำเป็นแบบพิมพ์
4.นำฟางที่ลวกแล้วที่เตรียมในวันที่ 1ใส่ลงในตะกร้าเพาะเป็นชั้น ๆ ดังนี้
4.1 ชั้นที่ 1 ใส่ฟางลงในตะกร้าหนาประมาณ 3-5 เซนติเมตรใช้มือกดให้แน่น โรยเชื้อเห็ดที่เตรียมไว้ให้ทั่วผิวหน้าฟาง
4.2 ชั้นที่ 2 ใส่ฟางหนาประมาณ 5-10 เซนติเมตรใช้มือกดให้แน่น โรยเชื้อเห็ด เฉพาะบริเวณริมขอบชิดข้างตะกร้าเพาะโดยรอบ
4.3 ชั้นที่ 3 และชั้นที่ 4 ปฏิบัติเหมือนเช่นชั้นที่ 2
4.4 ชั้นที่ 5 โรยเชื้อเห็ดให้ทั่วผิวหน้าฟางแล้วทับด้วยฟางหน้าประมาณ 3-5 เซนติเมตร
4.5ใช้เท้าเหยียบกดก้อนฟางเบาๆเพื่อดึงตะกร้าแบบพิมพ์ออก แล้วจัดก้อนฟางให้เรียบร้อย
4.6 นำตะกร้าวัสดุเพาะที่เสร็จแล้วมาวางรวมกันไว้ ทำจนครบ 100 ตะกร้าแล้วค่อยนำเข้าไปแขวนบ่มโรงเรือน
4.7 ก่อนนำตะกร้าเพาะไปเข้าโรงเรือนให้รดน้ำก่อนด้วยน้ำปุ๋ยที่เย็นแล้ว หรือ น้ำเปล่าใส่บัวรดน้ำโดยรดผ่านๆไปมาพอเปียก)

4.8 นำตะกร้าวัสดุเพาะเข้าแขวนหรือวางเรียงในโรงเรือน โดยก่อนย้ายเข้าให้พ่นน้ำในโรงเรือนให้ มีความชื้นเสียก่อน
4.9 นับจากวันแรกที่ย้ายวัสดุเพาะเข้าโรงเรือนจนครบ 5 วัน ให้รักษาอุณหภูมิใน โรงเรือนให้ได้ประมาณ 35-38 องศาเซลเซียส และรักษาความชื้นให้ได้ 80 % โดยปิดพลาสติกโรงเรือนให้มิดชิด
4.10 เห็ดโคนน้อยจะเริ่มออกดอกเห็ดให้เก็บผลผลิตได้ประมาณวันที่ 5-6 หลังจากที่นำตะกร้าวัสดุเพาะไปบ่มไว้ในโรงเรือน และจะทยอยเก็บดอกเห็ดได้ติดต่อกันทุกวัน เป็นเวลาประมาณ 10-15 วันปริมาณผลผลิตต่อตะกร้าวัสดุเพาะประมาณ 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศว่าเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของดอกเห็ดแต่ละครั้งในการเพาะ
การดูแลและทำความสะอาดดอกเห็ดหลังเก็บเกี่ยว ดอกเห็ดที่ได้รับการเก็บเกี่ยวแล้ว ยังจะเจริญเติบโตต่อเนื่องอย่างรวดเร็วหากเก็บไว้ในที่มีอุณหภูมิสูงจะทำให้ดอกเห็ดไม่มีคุณภาพน้ำหนักเบา บานง่าย ดังนั้นการเก็บเกี่ยวเห็ดโคนน้อย ไม่ควรเก็บใส่ในภาชนะที่ทึบและอับไม่ควรใส่เข้าไปในภาชนะให้มีปริมาณมากจนเกินไปมักจะนิยมใช้ตะกร้าโปร่งที่สามารถใส่ดอกเห็ดได้ประมาณ 4-5 กก. เมื่อทำการเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้วควรรีบนำไปตัดแต่ง ทำความสะอาดแล้วนำไปจำหน่ายโดยเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้ ดอกเห็ดจะบานและกลายเป็นสีดำอย่างรวดเร็วเนื่องจากเห็ดมีการสลายตัว แต่ถ้าต้องการยืดอายุในการเก็บรักษา ควรเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 8-10 องศาเซลเซียส สามารถเก็บในรูปเห็ดสดได้นานข้ามวันได้

สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ฐานเรียนรู้เห็ดแม่โจ้ อาจารย์สันต์ชัย มุกดา นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ฐานเรียนรู้เห็ดแม่โจ้ หลักสูตรสาขาวิชาอารักขาพืช คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทรศัพท์ 0 5387 5840 หรือ 08 9554 2325 (อาจารย์ สันต์ชัย มุกดา)หรือ 08 5614 8291(คุณไวกูณฑ์ อินทรคุปต์)

รายงานโดย
อาจารย์ พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ และสมศักดิ์ ศิริ นักวิชาการเกษตร งานถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9
แหล่งที่มา : สำนักงานวิจัยและส่งเสริมการเกษตร


3 ความคิดเห็น:

  1. ธนกฤต ฟาร์มเห็ด จำหน่ายเห็ดโคนน้อย ใหม่ สด สะอาด อร่อย
    ที่ตั้ง 92 ม.10 ต.เมืองศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 34190
    โทร.090-8231766, 087-0026473
    อีเมล์ winaiduangmala@hotmail.com,winaiduangmala@gmail.com

    ตอบลบ
  2. สนใจอยากทำค่ะตอนนี้ที่ฟาร์มยังมีอยู่ไหมคะ ขอรายละเอียดด้วยค่ะ

    ตอบลบ